บทวิเคราะห์ 6 ฉากทัศน์สูตรตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 จาก “ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งของการเมืองไทย ผลลัพธ์ทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นหลัง วันที่ 14 พ.ค. จะเกิดฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบใดได้บ้าง วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอไปรับฟังบทวิเคราะห์จาก “ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล ที่ติดตามข้อมูลของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้ง 66 อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด...

“ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล
“ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล

“เท่าที่ผมได้ตรวจสอบจากข้อมูลผลโพลล่าสุด รวมถึงวิเคราะห์ในแบบโลกความเป็นจริงทางการเมืองไทย ผมคิดว่า...หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด Scenario ทางการเมืองอย่างน้อย 5 Scenario ด้วยกัน!” ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เกิร่นนำการสนทนา กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" 

...

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง ใครทำอะไรและดีแค่ไหน? :

“หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่า พรรคก้าวไกล สามารถสร้างกระแสได้ดีมาก โดยเฉพาะการไปดีเบตตามเวทีต่างๆ จนกระทั่งทำให้เกิดการพูดถึงแบบปากต่อปากในวงกว้าง และลุกลามแพร่กระจายออกไปตามโชเชียลมีเดียต่างๆ จนสามารถสร้างแรงขับ ไม่เพียงแต่ในกลุ่ม 18-25 ปี เดิม แต่ปัจจุบันยังลามไปถึง กลุ่มอายุ 26-35 ปี แล้วอีกด้วย 

ส่วน พรรคเพื่อไทย ที่กระแสอ่อนลงนั้น น่าจะเป็นเพราะมันเกิดคำถามในกลุ่มคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่ในเวลานี้ว่า หากตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว จะได้ของแถมเป็นลุงเพิ่มมาอีกคนหรือเปล่า? (หัวเราะ) ซึ่งประเด็นนี้ต้องยอมรับว่าถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างไรก็ดีสำหรับประเด็นนี้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่พรรคเพื่อไทยคงจะพยายามหาทางแก้ไข เพื่อเคลียร์ตัวเองออกจากประเด็นนี้ให้ได้มากที่สุดแน่นอน

 ด้าน พรรคพลังประชารัฐ กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ นั้น ผมขอพูดแบบนี้แล้วกันครับ พรรคลุงตู่มีกระแส ส่วนพรรคลุงป้อมมีบ้านใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นคนละแบบ แต่ทั้งสองฝั่งมีทรัพยากรทางการเมืองแบบไม่จำกัดทั้งคู่ ฉะนั้นคงจะไปฟันธงได้ยากว่าระหว่างลุงป้อมและลุงตู่ เลือกตั้งคราวนี้ใครจะได้ ส.ส. มากกว่ากัน?” 

Scenario 1. สูตร รัฐบาลผสม 270 เสียง 

“ฉากทัศน์แรก พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งโดยได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมกันเป็นอันดับที่ 1 จากนั้นจะหันไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพราะหวังจะได้คะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกวุฒิสภา 

ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า...แม้ Scenario 1 จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด และน่าจะเป็นสูตรที่พรรคเพื่อไทยแฮปปี้มากที่สุด เพราะไม่ต้องไปแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกับใครมากนัก แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็มีความเสี่ยงสูงในแง่สเถียรภาพรัฐบาลด้วยเช่นกัน” 

Scenario 2. สูตรรัฐบาลผสม 300 เสียง :

“สำหรับ Scenario 2 นี้จะเหมือนกับ Scenario 1 เพียงแต่จะมีการดึงพรรคภูมิใจไทยเข้าไปร่วมเพื่อเสริมเสถียรภาพของรัฐบาลให้แข็งแกร่งมากขึ้น อย่างไรก็ดี จุดด้อยของ Scenario 2 นี้ คือ พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องเสียโควตากระทรวงสำคัญๆ ไปให้กับพรรคภูมิใจไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง บางที...พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องจำยอมตัดทิ้งพรรคขนาดเล็กอย่าง พรรคประชาชาติและพรรคชาติไทยพัฒนาออกไป เพื่อลดจำนวนโควตากระทรวงสำคัญๆ ที่ต้องสูญเสียไปให้กับพรรคภูมิใจไทยแทน”

...

Scenario 3. สูตรรัฐบาลผสม 251 เสียง หรือต่ำกว่าเล็กน้อย : 

“Scenario 3 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยพลาด ได้ ส.ส. รวมกันต่ำกว่า 200 เสียง และพรรคก้าวไกลต้องมีคะแนนทิ้งน้ำจำนวนมาก จนเป็นผลให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมสามารถรวมคะแนนเสียงได้ 251 เสียง หรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย (หัวเราะ) ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการบางอย่างหลังการเลือกตั้ง”

Scenario 4. สูตรรัฐบาลผสม 380 เสียง ทิ้ง 2 ลุงเป็นฝ่ายค้าน : 

“Scenario 4 พรรคเพื่อไทยจับมือทุกพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล โดยทิ้งให้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดีฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนนเสียงรวมกันเพียง 100-120 เสียง และยังมีอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญ คือ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล”

...

Scenario 5. สูตรรัฐบาลผสม เพื่อไทย + ก้าวไกล : 

“Scenario สุดท้าย คือ พรรคเพื่อไทยตัดสินใจยอมเสี่ยงโดยการจับมือพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีส่วนตัวผมคิดว่าฉากทัศน์นี้น่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด นั่นเป็นเพราะ...พรรคก้าวไกล มีแรงดึงดูดต่อการนำไปสู่ความขัดแย้งกับขั้วตรงข้ามได้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่ทำให้ทหารขยับ กลุ่มอนุรักษนิยมเขยิบ หรือดีไม่ดีมีม็อบบนถนนอะไรแบบนี้ ซึ่งในทางการเมืองแล้ว...ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างสูง และพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง 

...

เพราะสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในประเด็นนี้ คือ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลให้ได้ เพราะว่างเว้นจากการเป็นรัฐบาลมาเนิ่นนาน ฉะนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการคือ อย่างน้อยที่สุด 2-3 ปี ถัดจากนี้จะต้องไม่มีตัวแปรที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ไม่คาดฝันขึ้น” ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ปิดท้ายการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง