35 ล้านคน คือ จำนวนประชาชนที่กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะแห่แหนกลับบ้านต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ปีนี้ โดยระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถตู้ รถทัวร์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ต่างพร้อมเพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนเที่ยว เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน

โดย บขส.ได้ร่วมกับ รถร่วมฯ และรถตู้ จัดเที่ยววิ่งรถโดยสารรองรับการเดินทางของประชาชนในเที่ยวไป รวม 7,6011 เที่ยวต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 180,000 คนต่อวัน ส่วนเที่ยวกลับ รวม 7,302 เที่ยวต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 168,641 คนต่อวัน

ขณะเดียวกัน ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มคนชนชั้นล่างผู้มีรายได้น้อย มักจะอาศัยท้ายรถกระบะคนบ้านเดียวกันโดยช่วยหารค่าน้ำมันคนละไม่กี่ร้อยบาท รวมกันไปหลายๆ บ้าน ไม่ต้องแย่งกันขึ้นรถกลับบ้านที่ขนส่ง ไม่ต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะที่มีโชเฟอร์วิ่งรอกทำเที่ยว จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นทุกปี หรือการขูดเลือดขูดเนื้อขายตั๋วแพงช่วงเทศกาล นับเป็นสิ่งที่เราเห็นกันจนชินตาในสังคมไทย

นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องตากแดด ตากลม ตากฝน นั่งท้ายกระบะ เพื่อกลับบ้านเกิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าการบรรทุกคนล้นท้ายกระบะนั้น ขัดกับหลักกฎหมายที่ออกมาเนิ่นนาน แต่เพราะยังไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หลายคนจึงยังยึดถือปฏิบัติแบบเดิมๆ อยู่เรื่อยมา

กระทั่งวันหนึ่ง กฎหมายเกี่ยวกับรถกระบะได้ถูกปัดฝุ่นนำขึ้นมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ภายในระยะเวลาไม่กี่วันจนแทบจะตั้งตัวไม่ติด จึงเกิดเป็นข้อถกเถียงของคนในสังคมขึ้นมาว่า...

“คนจนจะทำอย่างไร?”
“ทั้งครอบครัวมีรถกระบะเพียงคันเดียว ใช้ทั้งส่งของและบรรทุกคนด้วย จะทำอย่างไร?”
“ขึ้นรถตู้ก็ไม่ปลอดภัย ขึ้นรถทัวร์ตั๋วก็แพง จะให้ทำอย่างไร?”
“อีกไม่กี่วันจะถึงช่วงหยุดยาว บังคับใช้กฎหมายเร็วเกินจะปรับตัวหรือไม่?”

...

ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่พลาดที่จะหยิบจับประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของคนในสังคมมาตีแผ่ และวิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริง จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ พวกเขาคิดเห็นอย่างไร รวมถึง ทางออกที่เหมาะสมของประเด็นร้อนนี้ ควรจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม...

เปิดสถิติอุบัติเหตุกระบะขนคน 4 ปี 76 เคส ตายเฉลี่ย 4 คนต่อครั้ง!

นพ.ธนพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมายใหม่ ไม่ใช่มาตรา 44 ด้วย ซึ่งการเอาคนไปอยู่ในท้ายกระบะ จะทำให้เกิดความเสี่ยง 2 แบบ ได้แก่ แบบแรก เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรถ เมื่อเลี้ยวจะเสียสมดุลหรือเกิดเสียหลักพลิกคว่ำเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แต่ถ้ายืนขึ้น จุดศูนย์ถ่วงของรถจะสูงขึ้น เพิ่มโอกาสในการเสียหลักพลิกคว่ำเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า และคนจะมีลักษณะของการเคลื่อนไหวด้วย เมื่อรถเสียสมดุลคนก็จะเกิดแรงเหวี่ยง และแรงเหวี่ยงซึ่งเกิดจากคนที่เคลื่อนไหวยิ่งไปส่งเสริมให้รถเสียเสถียรภาพ เพราะว่า รถกระบะส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้ติดระบบ ESC (Electronic Stability Control) เพราะจะยิ่งเพิ่มราคารถ

แบบที่สอง เกิดความเสี่ยงต่อผู้นั่งท้ายกระบะ หรือการเทกระจาด โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุเคยรวบรวมเคสลักษณะนี้ที่เป็นเคสใหญ่ๆ ในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2556 มีถึง 76 เคส เฉลี่ยปีละ 19 เคส ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการบรรทุกเกิน 10 คนขึ้นไป และความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะมีการตายเฉลี่ย 3.5 คน บาดเจ็บประมาณ 8-9 คนต่อเหตุการณ์

นอกจากนี้ ใน 76 เคสนั้น มีจำนวนถึง 70% ที่ไม่มีคู่กรณี ซึ่งเป็นการเสียหลักพลิกคว่ำและเทกระจาดเอง และเกือบครึ่งหนึ่งเป็นรถกระบะที่ใช้ในการขนแรงงานด้วย และตัวเลขโอกาสในการเสียชีวิตของคนที่นั่งท้ายกระบะจะสูงกว่าคนที่นั่งอยู่ในตัวรถถึง 8 เท่าด้วย

คาด คนปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้กระแสต่อต้านสูง

นพ.ธนพงษ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาชนมีกระแสต่อต้านกฎหมายนี้สูง เนื่องจากการประกาศใช้เร็วเกินไป และใกล้ช่วงสงกรานต์ด้วย จึงทำให้ประชาชนปรับตัวไม่ทัน อีกทั้งบางคนที่ต้องกลับต่างจังหวัดไกลๆ ไม่ได้จองตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า โดยคาดว่าจะอาศัยนั่งท้ายกระบะกลับบ้าน ก็ทำให้ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้

...

“บ้านเราถูกอนุโลมมาโดยตลอด หลายเรื่องเป็นกฎหมายเดิม และที่ยังไม่ถูกบังคับใช้เพราะว่ามันมีข้อจำกัด แต่พอไม่บังคับใช้มันเลยกลายเป็นเรื่องที่เคยชิน พอวันหนึ่งจะถูกบังคับใช้คนก็เลยต่อต้าน เพราะว่าปรับตัวไม่ได้ และคิดว่าอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เตรียมคือ ด้านของฝ่ายผลิต เนื่องจากรถปิกอัพเป็นรถส่วนใหญ่ที่วิ่งบนท้องถนน และผู้ผลิตพยายามโปรโมตทำให้เห็นว่าเป็นรถกึ่งอเนกประสงค์ ทั้งที่จริงตามกฎหมายเป็นรถส่วนบุคคล 2 ที่นั่ง ดังนั้น พอถูกสื่อสารมาแบบนี้ จึงทำให้คนมองว่ารถปิกอัพเป็นรถอเนกประสงค์ รถขนคน และเราก็ชินแบบนี้มาเป็นสิบๆ ปี” ผู้จัดการ ศวปถ. อธิบาย

ศวปถ. แนะ 2 วิธี เสนอทางออกร่วมกัน

สำหรับทางออกเพื่อที่จะทำให้กฎหมาย ความปลอดภัย และสภาพสังคมไทย สามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้นั้น นพ.ธนพงษ์ เสนอแนะว่า

1. ทางแก้สำหรับประชาชนที่มีรถกระบะอยู่แล้ว และจำเป็นต้องใช้บรรทุกทั้งคนและของ โดยต้องเพิ่มเติมอุปกรณ์ความปลอดภัย เพิ่มเติมหลังคาเข้าไป คิดว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างกฎหมายและสภาพสังคมไทย

...

2. มุ่งเน้นกับการบรรทุกในจำนวนที่มาก เพราะตัวเลขที่ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุศึกษา 76 เคส ชี้ชัดว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการบรรทุก 7 คนขึ้นไป จะทำให้รถเสียเสถียรภาพ และการบรรทุกคนจำนวนมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้มีการตายเยอะ

3. มุ่งเน้นไปในเส้นทางที่ต้องใช้ความเร็ว เช่น ทางด่วน มอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์ โดยระหว่างนี้อาจจะผ่อนผันกับสายรองที่ใช้ความเร็วต่ำ ซึ่งจะทำให้คนค่อยๆ ปรับตัวกัน คิดว่าอาจจะเป็นทางออกในระยะสั้นของการบังคับใช้ได้

“เราให้ค่ากับชีวิตคนนั่งท้ายกระบะน้อยเกินไป”

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นดราม่าที่เผ็ดร้อนที่สุดในสังคมไทย ณ ขณะนี้ว่า “เรามักจะให้ค่าให้ราคากับชีวิตของคนน้อยเกินไป การนำคนหลายๆ ชีวิตไปบรรทุกไว้กระบะหลัง มันเหมือนกับการบรรทุกหมูบรรทุกหมา”

ดร.สุเมธ ขยายความต่ออีกว่า ตามสมรรถนะของการใช้งานรถกระบะนั้น พื้นที่ท้ายกระบะและพื้นที่แค็บจะไม่สามารถนั่งได้ เนื่องจากผู้ผลิตไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้งานสำหรับการนั่ง ซึ่งการออกแบบที่นั่งนั้น จะต้องถูกออกแบบมาอย่างชัดเจน นั่นก็คือ มีที่นั่ง, มีเบาะ, มีสิ่งยึดรั้ง (เข็มขัดนิรภัย) เพราะฉะนั้น รถที่ไม่มีคุณสมบัติของที่นั่ง จึงไม่เหมาะไม่ควรกับการนั่งในทุกกรณี

...

“แม้กระทั่ง รถกระบะในต่างประเทศ หากเขาจะใช้นั่ง เขาก็จะติดตั้งเบาะเข้าไว้ที่ด้านหลัง ซึ่งเป็นเบาะชั่วคราวที่มีอุปกรณ์และมีมาตรฐานในการติดตั้ง ซึ่งในต่างประเทศนั้น ให้ความสำคัญกับคนนั่งอย่างมาก” ดร.สุเมธ ยกตัวอย่างกรณีการใช้รถกระบะในต่างประเทศ

“ส่วนคนไทยนั้น อยู่ในสังคมที่มีแต่ความอะลุ่มอล่วยกันมายาวนาน แต่ขอถามว่า ประเทศเราจะเป็นกันแบบนี้อีกนานแค่ไหน โดยที่เราให้ค่าของชีวิต ให้ค่าคนที่นั่งกระบะต่ำมาก ไม่มีทางป้องกันใดๆ เลย ซึ่งเหตุการณ์แห่งความสูญเสียจากการนั่งหลังกระบะนั้น หากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ก็คือ เหตุการณ์เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ดับ 25 ศพ! รถตู้ประสานงาปิกอัพท่ีบ้านบึง ไฟลุกท่วมคลอกสยอง โดยแยกเป็นผู้ที่โดยสารที่นั่งมากับรถกระบะเป็นจำนวน 11 ศพ ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้ง 11 ศพนั้น นั่งท้ายกระบะมาเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเสมือนบทเรียนที่กำลังจะบอกกับเราว่า หากเราห้ามคนนั่งกระบะหลังได้ ชีวิตอันมีค่าของคนเหล่านี้จะไม่สูญเสีย ดร.สุเมธ พยายามกล่าวให้เห็นภาพมากขึ้น

คนจนทำไง? มีกระบะคันเดียวทั้งครอบครัว

“บางครอบครัว มีรถกระบะ 1 คันทั้งครอบครัว หรืออาจจะมีแค่คันเดียวทั้งชีวิต ซึ่งคนพวกนี้เขานำไปใช้ทั้งในแง่ของการบรรทุกสิ่งของ และบรรทุกคน เพราะฉะนั้น นโยบายดังกล่าว จะไปทำร้ายคนกลุ่มนี้ หรือไปทำร้ายคนจนรึเปล่า?” ผู้สื่อข่าวซักถามความคิดเห็นจากนักวิชาการคนดัง

ดร.สุเมธ ตอบว่า “หากเราไม่เปลี่ยน เราจะเปลี่ยนเมื่อไหร่ เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไป 10 ปี 20 ปี หรือจนกว่าจะมีคนตายหรือ หากมีคนตายเพราะนั่งท้ายกระบะ เราก็จะปล่อยให้มันเป็นเช่นนี้ต่อไปหรือ เราพูดอย่างนี้กันมากี่ปีแล้ว แล้วเหตุแบบนี้มันก็มีคนตายอยู่แทบทุกวัน อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นเพราะดวงตก หรือโชคไม่ดี แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัย เรื่องของความระมัดระวัง เรื่องของการลดความเสี่ยงต่างหาก”

“สำหรับนโยบายนี้ อาจทำให้คนชนชั้นกลางหรือคนรากหญ้า ร้องถามว่า อ้าว ความคิดแบบนี้เป็นความคิดของคนรวยหรือเปล่า เพราะคุณมีรถยนต์ส่วนบุคคล คุณไม่ได้ใช้รถกระบะ คุณไม่ใช่คนที่เดือดร้อน คุณไม่ใช่คนจนนี่” ผู้สื่อข่าวถามแทนใจประชาชนบางคน

นักวิชาการคนดังตอบในทันทีว่า “ถ้าเขานั่งท้ายกระบะ จนอาจนำมาสู่อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บ ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร หรือชีวิตเขาอาจจะเลวร้ายไปมากกว่านี้อีก หากเขาต้องสูญเสียอวัยวะ เรื่องราวหรืออนาคตของเขาอาจจะเลวร้ายมากขึ้น โดยที่คุณไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ เพราะฉะนั้น นโยบายนี้ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อป้องกันความสูญเสีย หากความสะดวกสบายต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง และความปลอดภัยที่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น คุณคงต้องเลือกเอา เพราะความปลอดภัยมันมีต้นทุนของมัน”

ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปอีกว่า ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจ และสภาพสังคมของคนไทยนั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเท่าใดนัก ดังนั้น หากคุณต้องการจะนั่งแค็บ หรือนั่งท้ายกระบะ ควรมีการจำกัดความเร็วให้อยู่ที่ 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, ไม่ควรใช้ทางหลวงสายหลัก อันเป็นเส้นทางที่รถแต่ละคันมีการใช้ความเร็วค่อนข้างสูง, ไม่ควรบรรทุกคนท้ายกระบะ เพื่อการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น และในท้ายที่สุด ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ควรให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจถึงวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยต่อไป

ฟังอีกมุม! กฎหมายการุณยฆาต อ้างปลอดภัย แต่ปล่อยปละมานาน

“ผมว่าเป็นกฎหมายการุณยฆาต ใช้ความกรุณาปรานีมาพิฆาตกัน โดยอ้างว่าเป็นเจตนาดี ป้องกันไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย แต่ในวิถีชีวิตปฏิบัติจริงนั้น ต้องยอมรับว่า บ้านเราใช้กันแบบนี้มานาน การที่จะมาอ้างว่า เป็นการใช้รถผิดประเภท แล้วปล่อยกันมานานขนาดนี้ได้อย่างไร!?” นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ แสดงทัศนะส่วนตัว

ทั้งนี้ นายพัฒนเดช ยังได้อธิบายต่อว่า การจะอ้างเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ต้องดูบริบททั้งหมดว่าปัจจุบันมีคนจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ใช้ วันนี้รถที่วิ่งบนท้องถนนบ้านเรา ครึ่งหนึ่งเป็นรถกระบะ ครึ่งหนึ่งถูกใช้ในแบบที่ทางการมองว่า “ใช้ผิด” ในจำนวนเป็นแสนคัน ทำไมจึงปล่อยให้ใช้ผิดๆ กันมานาน แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็บอกว่า จะเอาผิดแล้ว จึงอยากถามว่า “มันถูกต้องแล้วหรือ?”

“อย่าคิดกฎหมายจากคนนั่งเก๋ง ให้คนทั้งประเทศใช้”

นายพัฒนเดช ยังได้แนะถึงทางออกที่เหมาะสมทั้งในเรื่องของกฎหมายและสภาพสังคมด้วยว่า หาก คสช. จะออกกฎหมายที่ได้ถูกปล่อยปละละเลยกันมานาน จะต้องเว้นช่วงให้ประชาชนปรับตัวบ้าง เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี เพราะปล่อยปละกันมานานแล้ว ดังนั้น จะทำแบบปุบปับ มันทำไม่ได้

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ควรกางระเบียบออกมาให้ชัดเจนว่า หากกระบะมีแค็บควรจะทำอย่างไร ท้ายกระบะต้องมีหลังคาหรือไม่ หากมีหลังคาแล้วต้องมีเข็มขัดนิรภัยด้วยหรือไม่ รวมทั้งส่วนที่เป็นหลังคาไฟเบอร์แล้วปูพื้นนั่งกัน จะต้องดัดแปลงอย่างไร เพื่อที่จะให้กฎหมายและสภาพสังคมสามารถเดินไปด้วยกันได้

“ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาใหม่ๆ ต่างชาติบอกต้องเลือกตั้ง ท่านยังบอกเลยว่า ‘อย่าตัดเสื้อสำเร็จรูปมาให้คนทั้งโลกสวม’ แต่วันนี้เหมือนกันอย่าคิดกฎหมายด้วยคนที่นั่งรถเก๋งแล้วไปให้คนทั้งประเทศใช้ ต้องให้คนที่เขานั่งรถกระบะได้ออกมาพูดบ้าง” ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ ทิ้งท้ายให้คิด

อย่างไรก็ดี สำหรับบทสรุปของประเด็นร้อนที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ ได้สิ้นสุดลงเมื่อทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวด่วนเมื่อวานนี้ (5 เม.ย.60) โดยยอมอนุโลมให้สามารถนั่งบนท้ายรถกระบะ และนั่งภายในแค็บได้ จนกว่าจะพ้นเทศกาลสงกรานต์ โดยให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนละเว้นโทษปรับ พร้อมทั้งให้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่ายังบังคับใช้กฎหมายอยู่ เพียงแต่อนุโลมช่วงเทศกาลเท่านั้น.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง