เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงกันในขณะนี้ สำหรับเรื่องห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ที่เรียกว่า โกลาหล ต่อต้านกันยกใหญ่และจากอารมณ์โกรธเกรี้ยวของคนใช้รถใช้ถนน ที่จำเป็นต้องเดินทางเป็นหมู่คณะ "จำเป็น" ต้องเดินทางกลับถิ่นฐานด้วยรถกระบะที่มีแค็บด้านหลัง ซึ่งเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ซึ่งขอทำความเข้าใจกับประชาชน ดังนี้...

ผอ.สคอ. กล่าวยอมรับในความโกรธของประชาชน และอยากจะบอกว่า...ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าเป็นความเข้าใจกัน 2 มุม คือ มุมกฎหมายและมุมของความจำเป็น

กฎหมาย คือ รถทุกประเภทถูกจดโดย พ.ร.บ.ขนส่ง ถูกกำหนดไว้ชัดเจนไว้ว่ารถที่มีที่นั่งต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่การออกแบบของ “รถแบบแค็บ” ทีแรกไม่ได้ถูกออกแบบเป็นที่นั่ง มีเพียงช่องว่างๆ และตัวรองนิดหน่อย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุนี้ ตัวกฎหมายจึงไม่ได้คุ้มครอง

มุมความจำเป็นคือ สังคมไทยนำรถดังกล่าวมาใช้จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน

...

“กระทั่งในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า สถิติเกิดอุบัติเหตุกับรถกระบะโดยเฉพาะมีแค็บหลัง แทบไม่รอดเลย เรียกว่า โอกาสรอดเป็นศูนย์”

นายพรหมมินทร์ อธิบายว่า หากเกิดอุบัติเหตุไม่หนักมาก ตัวคนนั่งหลังจะกระแทกกับตัวคนขับอย่างแรง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการเก็บสถิติในเรื่องนี้ อีกส่วนคือ เวลาเกิดเหตุ คนที่เข้าไปช่วยลำบาก คนที่จะออกจากรถ ก็ออกไม่ได้ หากสังเกตการช่วยเหลือคนหลังแค็บนั้น จะต้องใช้เครื่องตัดถ่างตลอด เพราะตรงนั้นไม่มีประตู กระจกด้านข้างมีอยู่นิดเดียว ไม่สามารถดึงคนออกมาได้

“เวลาหมอ พยาบาล จะเข้าช่วยเหลือก็พบว่าทำงานลำบากมาก เพราะถูกบีบไปหมด หากโชคร้ายวันนั้นเกิดเพลิงไหม้ด้วย แค็บส่วนใหญ่จะไม่มีใครรอดแม้แต่รายเดียว ถึงแม้จะมีสติ พอขยับได้ ร้องให้คนช่วยได้ แต่ก็หนีไม่ได้ นี่คือเหตุผลของผู้รักษากฎหมายบ้านเมือง”

หากเป็นรถเก๋ง หรือ SUV รถประเภทนี้มีเบาะที่นั่งแยกออกมาต่างหาก แล้วถูกกำหนดมาแล้ว ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2553 ว่าต้องมีเข็มขัดนิรภัย เรียกว่าถูกต้องตามมาตรฐานการใช้รถ ส่วนที่บอกว่าถูกอัดก๊อบปี้เหมือนกัน ไม่ว่าใช้รถชนิดไหนนั้น มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างความเร็ว ความแรง

“เร็วมาก แรงมาก ถูกอัดก๊อบปี้เหมือนกัน แต่...รถแค็บ นี่แค่เฉี่ยวกันประตูบุบ คุณก็ออกจากรถไม่ได้แล้ว หรือ แค่ไฟช็อต ข้างใน แค่ประตูบุบก็ตายได้ ซึ่งมันคนละประเด็น...”

ยันรัฐยังไม่ดำเนินการเข้มงวดสงกรานต์นี้ คาดเตรียมแผนเพื่ออนาคต 

แต่ประเด็นคือ ตอนนี้สังคมต่อต้านอย่างหนัก เรียกว่าโกลาหล ที่จะต่อต้าน เราจะอธิบายอย่างไร ผอ.สคอ. กล่าวว่า เท่าที่ผมทราบว่า ทางรัฐบาลเขามีการประสานกับทางตำรวจแล้ว ว่าจะไม่เข้มงวดมาก แต่...ถ้าเอาตามกฎหมาย มันผิดอยู่แล้ว

ในอนาคต...รัฐบาลจะยังคงให้ผลิตรถแบบมีแค็บอย่างนี้อยู่หรือเปล่า?

ต่อไปอาจจะไม่มีรถกระบะแบบมีแค็บในประเทศไทยเลย ซึ่งคนที่มีรถอยู่ กับคนที่วางสายการผลิตไว้ ก็อาจจะต้องไปกันหมด

“ผมอยากเรียนแจงกับคนไทยแบบนี้ คือ เพื่อความปลอดภัยของคนกลุ่มหนึ่ง ที่คิดว่าตัวเองฐานะยังไม่ดีพอจำเป็นต้องใช้ หรือ คิดว่ามีฐานะแล้ว แต่เลือกใช้เพราะความสะดวกสบาย ได้โปรดให้ความสำคัญกับความเสียหายของคนอีกส่วนหนึ่งด้วย”

ปีหนึ่งเรามีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 24,000 กว่าราย แล้วเราจะออกมาตรการอะไรมาใช้แก้ปัญหา จำนวน 24,000 กว่ารายนี้เราจะอธิบายกับเขาอย่างไร รัฐจะอธิบายอย่างไร

...

สุดท้าย ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า สังคมไทยยังมีบริบทสังคมที่ว่าด้วยความสะดวกสบายเป็นตัวตั้ง มีความยากจนเป็นพื้นฐาน มีส่วนขาดของสังคม หรือเรียกง่ายๆ ว่าการแบ่งชนชั้นวรรณะ เยอะ ความยากจนยังแบ่งเป็นชั้นๆ อยู่ คนมีเงินหน่อยอาจจะซื้อ 2 คัน คือ เก๋ง 1 คัน กระบะ 1 คัน แต่บ้านเรามีการปล่อยให้มีการเติบโตแบบธรรมชาติ รัฐไม่เคยเข้าไปกำกับดูแล รัฐปล่อยปละละเลย อยากทำอะไรก็ทำ กระทั่งตอนนี้ปัญหาอุบัติเหตุของบ้านเรากลายเป็นเบอร์ 2 ของโลกแล้ว นี่คือต้นเหตุที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ขอบคุณภาพ นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ จากเฟซบุ๊ก สคอ.