ไม่ว่าเพศสภาพใด อาชีพอะไร เมื่อมีตัวตนในโลกโซเชียล ปัญหาที่ต้องเจอคือ ไซเบอร์ บูลลี่ (Cyberbullying) หรือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

“ครูบอลลี่” หรือนายธีรพงศ์ มีสัตย์ ชาว จ.อำนาจเจริญ ที่มุ่งมั่นเรียนจนจบและสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้สำเร็จตามความฝันของพ่อแม่ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้สำเร็จ เป็นอีกคนที่ตกเป็น “เหยื่อไซเบอร์บูลลี่” โดยไม่รู้ตัว แม้ปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT มากขึ้นก็ตาม

ด้วยคาแรกเตอร์ของเพศสภาพ และนิสัยชอบเอนเตอร์เทน รวมถึงแนวคิดใหม่ แต่งหน้าแปลกๆ ขณะสอนเพื่อดึงดูดให้นักเรียนชอบและสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษนี่เอง ทำให้ครูบอลลี่จากคนธรรมดาที่มีคนรู้จักไม่กี่ร้อย กลายเป็นคนสาธารณะของสังคมที่มีคนรู้จักหลายล้าน ทั้งในไทยและทั่วโลก หลังคลิปแต่งหน้าแปลกสอนภาษาอังกฤษกลายเป็นคลิปไวรัลกระฉ่อนโลกโซเชียลเมื่อกลางปี 62 ที่ผ่านมา

เมื่อเป็นคนดังในชั่วพริบตา สิ่งที่ตามมา “ครูบอลลี่” ถูกไซเบอร์บูลลี่ด้วยคอมเมนต์แง่ลบทิ่มแทงใจมากมายในโลกโซเชียลโดยไม่ทันตั้งตัวจนรู้สึกบั่นทอนจิตใจ รอยยิ้มแห่งความสุขเร่ิมหาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบลุกลามถึงคนใกล้ชิด ซึ่งน้อยคนจะนึกถึง นั่นคือ พ่อ แม่

“คอมเมนต์เหล่านั้นไม่ได้แค่ทำร้ายจิตใจเรา แต่ทำร้ายจิตใจ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนรอบข้าง ซึ่งสำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ของเรา รู้สึกกังวลใจ เสียใจไปด้วย สิ่งที่ทำให้ดีที่สุดคือต้องสตรอง และสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา” ครูบอลลี่เล่าจากประสบการณ์จริง

ศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนปีนี้ตรงกับวันที่ 19 มิ.ย. เป็น วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day) เพื่อร่วมสร้างความตระหนัก เสริมความเข้าใจ และลดปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ครูบอลลี่แนะแง่คิดก่อนคอมเมนต์ผู้อื่นในโลกโซเชียลว่า ก่อนนิ้วจะพิมพ์คอมเมนต์ใครทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ควรคอมเมนต์ด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว อย่าตั้งศาลเตี้ยตัดสินคนอื่นเพียงแค่ความสนุก หรือแค่เพราะต้องการกดคนอื่นให้ต่ำลง

ครูบอลลี่ในลุคปกติ ไม่แต่งหน้าใส่วิก
ครูบอลลี่ในลุคปกติ ไม่แต่งหน้าใส่วิก


สำหรับการก้าวข้ามปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ครูบอลลี่ใช้แนวคิด “เพิกเฉย” ต่อคอมเมนต์ด้านลบ (Bad Comment) ที่ไม่สร้างสรรค์ เลือกเสพเฉพาะคอมเมนต์ด้านบวก (Positive Comment) เพื่อนำมาเป็นพลังชีวิตเพื่อพัฒนาผลงานในหน้าที่ครูต่อไป เพราะอาชีพครู หน้าที่หลักคือการให้ความรู้นักเรียนไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใดก็ตาม

“อันดับแรกที่คนไทยต้องตระหนัก นอกจากตระหนักตัวเองแล้วต้องพร่ำสอนบุตรหลานให้มีความเคารพในสิทธิบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือในโลกออนไลน์ ต้องเรียนรู้เคารพคนอื่นก่อน และขณะเดียวกันต้องทำตัวเองให้น่าเคารพ หากเราเคารพซึ่งกันและกัน ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ก็จะลดลง”.

ทุกชีวิต มีมุมให้ค้นหาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน