หนังสือ ประเพณี 12 เดือน ฉบับที่อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ เรียบเรียง (มติชน 2548) มีประโยคบอกความหมาย “ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม เพื่อความอยู่รอดของคน” ครับ
ประเพณีเดือนเจ็ด เนื่องมาจากเดือนหก ฝนตกเข้าฤดูกาล
การผลิตใหม่ ได้เวลาทำไร่ไถนา ไม่มีเวลาไปทำพิธีกรรมอื่น เหลือแต่กิจกรรม ในบ้าน เลี้ยงผี และเข้าวัด เลี้ยงพระ และสลากภัต
สมัยอยุธยา เรียกเดือนเชฐ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) นิพนธ์ไว้บทหนึ่ง “เดือนเชฐเจ็ดค่ำแล้ว พี่ยิ่งแคล้วแก้วกัลยา ร่างระทวยสวยโสภา พี่ว้าวุ่นขุ่นอารมณ์”
เดือนนี้ฝนตกหนักมาก ขนาดเห็นฟ้าเขียว ทวาทศมาศ โคลงดั้นสมัยต้นอยุธยา ว่า “ฤดูเดือนเมฆน้ำนองหาว ขุกข่มเขียวไพรตอม ยอดย้อม”
ในราชสำนักต้นอยุธยา ตามกฎมณเฑียรบาล มีพิธี “ทูลน้ำล้างพระบาท”
ขุนนางน้อยใหญ่ เอา “กลออม” (อ่านว่ากะละออม) ทำด้วยทอง นาค และ เงิน “ตั้งศีศะ” “ทูนไปบนหัว” เพื่อล้างพระบาทพระเจ้าแผ่นดิน ที่ประทับยืนบนอ่างทอง
พราหมณ์ก็มีพิธีพราหมณ์ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เรียก พิธีเคณฑะ แปลว่า ทิ้งข่าง
พิธีนี้ยังทำกันในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พราหมณ์โบสถ์พราหมณ์ เอาลูกข่างศักดิ์สิทธิ์มาทำพิธีปั่น ให้เกิดเป็นเสียงดังอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง แล้วมีคำทำนาย
ถ้าเสียงดังกังวานเสนาะสนั่น “ดุจเสียงสังข์” บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข
ถ้าปั่นลูกข่างแล้วเสียงไม่ดังไพเราะ...บ้านเมืองก็ไม่เป็นสุข
พิธี “ทิ้งข่าง” พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จทอดพระเนตร แสดงว่า
...
เป็นพิธีที่พวกพราหมณ์ทำกันเอง
ชาวบ้านก็มีพิธีของชาวบ้าน ทำกันตามท้องถิ่นตามสถานการณ์ เป็นพิธีจร
ล้านนา เลี้ยงผีปู่ย่าตายาย เลี้ยงผีขุนน้ำ มอญมีพิธีฟ้อนผีมดผีเม็ง อีสานมีบุญซำฮะ (ก็คือชำระ) หรือบุญเบิกบ้าน เกี่ยวข้องกับประเพณีผีปู่ตา ผีตาแฮก ผีมเหสักข์ ผีหลักเมือง
คนไทย เมื่อเลี้ยงผีแล้ว ก็ต้องเลี้ยงพระเรียกว่า สลากภัต พิธีนี้เริ่มจากราชสำนัก แล้วแพร่หลายไปสู่ราษฎร นิราศเดือน หมื่นพรมสมพัตสร หรือเสมียนมี กวีรัชกาลที่ 3 พรรณนาไว้
“กระทั่งถึงเดือนเจ็ดไม่เสร็จโศก บังเกิดโรคแรงหนักด้วยรักสมร สลากภัตจัดแจงแต่งหาบคอน อย่างแต่ก่อนหาบกระทายมีลายทอง...”
“ทั้งผู้ดีเข็ญใจไปก็มาก จับสลากหนังสือชื่อพระสงฆ์ รู้จักนามตามพบประสบองค์ ต่างจำนงน้อมถวายรายกันไป...”
อาจารย์ปรานีอธิบาย...ประเพณีถวายสลากภัต ชาวบ้านจะแห่เครื่องจตุปัจจัยไทยทานไปวัดอย่างครึกครื้น แล้วให้ทายกจับสลากที่เขียนไว้ ตรงกับพระองค์ใด
สมัยก่อนนั้น พระกับโยม โดยเฉพาะโยมหญิง จะมีเหตุให้เจอกันซึ่งหน้า ก็ในงานทำบุญ งานถวายสลากภัต...
เรื่องแบบในวัดนครศรีธรรมราช หลวงพ่อมีกุญแจให้โยมหญิง ไขเข้าไปหาได้ทุกเวลา... จนเป็นเรื่องเลวร้าย โยมยึดผลประโยชน์วัด จนถึงฆ่าเณรฝังลานวัด...ไม่มี
ประเพณีเลี้ยงผี เลี้ยงพระ ถวายสลากภัต นี่ล่ะครับ ที่มาของสำนวน บนเข้าผี ตีเข้าพระ”
มีคำ “บน” มีคำ “ตี” ฟังไม่เป็นมงคล...แต่ความจริงนั้น กลายจากความหมายเดิม เลี้ยงข้าวผี ถวายข้าวพระ อย่างที่ว่าเดือนเจ็ด ฝนตกหนัก น้ำท่วม ชาวบ้านไม่มีอะไรให้ทำ
รัฐบาลท่านก็เพิ่งสั่ง ทุกหน่วยงานบูรณาการช่วยปัญหาน้ำท่วม เราเพิ่งผ่านปัญหาฝนแล้งเมื่อเดือนสองเดือนที่แล้ว ช่วยฝนแล้งไปแล้ว ฝนตกคราวนี้ก็ขมีขมันช่วยอีก
รัฐบาลประเทศไทย ไม่ว่ารัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลประชาธิปไตย ดูจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้.
กิเลน ประลองเชิง