เมื่อวาน ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) อธิบายขยายความให้รู้กันไปแล้ว เหตุไฉนปีนี้ฝนถึงมาเร็วและแรงผิดธรรมชาติของการเริ่มฤดูฝน

แล้วนับแต่นี้ต่อไป สถานการณ์ฝนฟ้าทั้งปีที่เหลือจะเป็นอย่างไร

ดร.รอยล คาดการณ์...เดือนนี้ฝนอาจเบาบางลงบ้าง แต่ยังมีให้เห็นเกือบทุกพื้นที่ตามฤดูกาล และมีโอกาสโดนอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่ทำให้ฝนตกแช่นานหลายวัน

ส่วนเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ฝนอาจลดลงเล็กน้อย และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอพายุอีก 1 ลูก

มาถึงเดือนกันยายน ฝนจะเข้าสู่ภาวะตกตามปกติ...เดือนตุลาคม ฝนจะมาก และอาจมีพายุเฉียดผ่านเราไปอีก 1 ลูก

พฤศจิกายน มีแนวโน้มสูงเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ แล้งและอากาศเย็นกว่าปกติ ทำ ให้มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งเอเชียฝนตกน้อย และจะไปตกมากแถบอเมริกา แต่ตอบไม่ได้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะกินเวลาไปยาวนานเท่าใด เพราะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในระยะเวลา 6-7 เดือนเท่านั้น

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 หากฝนตกเหนือเขื่อนเยอะ เขื่อนใหญ่ เขื่อนน้อย อ่างเก็บน้ำ ทั้งประเทศรับน้ำได้อีกมาก แม้ปีนี้จะมีฝนตกมากเท่าปี 2554 ก็ตาม

พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานไม่น่าห่วง...แต่พื้นที่นอกเขต เกษตรกรต้องหาวิธีการเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

ภาพรวมปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 เพราะปริมาณฝนน้อยจากอิทธิพลของเอลนีโญ แต่จะเกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำตามจังหวัดต่างๆ กรุงเทพฯและปริมณฑล

เกษตรกรควรบริหารจัดการน้ำให้เป็น มีบ่อน้ำของตัวเองรองรับปริมาณน้ำฝนเก็บกักใช้ช่วงแล้ง และป้องกันน้ำท่วม เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด...ส่วนกรุงเทพฯ การบ้านใหญ่ ปัญหาจราจรตัวการใหญ่ก่อมลพิษ ทำให้ภูมิอากาศแปรปรวน ฝนตกได้บ่อยทุกฤดูกาล.

...

สะ–เล–เต