1 พรรค 2 แนวทาง อะไรก็เกิดขึ้นได้

หลังแกนนำกลุ่ม กปปส.กลับคืนสู่พรรคประชาธิปัตย์ แม้ภาพภายนอกจะดูสงบราบรื่นไร้ปัญหา แต่วงในจะเกิดอะไรขึ้นยังมิอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไปกันได้

ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะเหตุปัจจัยภายในพรรคมีอะไรอีกหลายอย่างที่จะทำให้เกิดความกลมเกลียวเหมือนเดิมคงเป็นไปได้ยาก

การที่แยกตัวไปร่วมกลุ่ม กปปส. อันไม่ต่างไปจากเลือดต่างสีด้วยแนวคิดที่ต่างกัน จะหันกลับมารวมสีให้เป็นเนื้อเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แม้ด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปัตย์ที่โค่นล้มรัฐบาลยุคนั้นได้ แต่เมื่อกลับเข้ามานอกจากจะแย่งพื้นที่ ส.ส.แล้ว ยังแย่งเก้าอี้ผู้บริหารพรรคด้วย

เพราะ กปปส.แต่ละคนล้วนไม่ธรรมดา

นี้ยังไม่นับเรื่องที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งแม้ว่าจะไม่เข้า มาคืนถิ่นประชาธิปัตย์ แต่ถามว่ายังมีบทบาททางการเมืองหรือไม่

ยังมีบทบาทต่อกลุ่ม กปปส.หรือไม่

แนวคิดที่จะหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไปหลังเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าต่อไปได้

เป็นข้อเสนอที่ “ตำใจ” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แน่

ถามต่อไปอีกว่า แนวคิดของนายสุเทพจะมีอิทธิพลและบทบาทในทางการเมืองของประเทศนี้หรือไม่

ไม่มีใครปฏิเสธได้...

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ต้องการจะตอกย้ำว่าประชาธิปัตย์

เป็นสถาบันพรรคการเมืองที่เก่าแก่ของประเทศ จึงมีอุดมการณ์ที่ยึดแนวทางประชาธิปไตย คือ หากพรรคที่รวบรวมเสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

ติง ส.ว.ที่จะได้การแต่งตั้ง 250 คน จาก คสช. เป็นการล่วงหน้าให้เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ต้องยอมให้สภาผู้แทนฯเลือกนายกฯตามเสียงข้างมากก่อน หากไม่ได้ค่อยมาว่ากันใหม่

...

หมายถึง ส.ว. 250 คน ที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า สามารถเข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯคนนอกได้

เอาหลักการมาปิดประตูเอาไว้ก่อน

ความเป็นจริงแล้ว หากมีการเลือกตั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีโอกาสมากกว่าเยอะ แม้รัฐธรรมนูญจะเอื้อต่อแนวทางนายกฯคนนอก และ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน

หากพรรคการเมืองร่วมมือร่วมใจกัน และเลือก ส.ส.เป็นนายกฯทุกอย่างก็จบ นายกฯคนนอกไม่มีวันได้เกิดแน่

ยิ่งไปกว่านั้น หากได้นายกฯคนนอก ก็หาใช่ว่าจะบริหารประเทศได้อย่างสะดวก เพราะ ส.ว. 250 คนนั้น แม้จะมีอำนาจโหวตนายกฯคนนอกได้

แต่ไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ

อีกทั้งการเป็นนายกฯเพื่อบริหารประเทศ จะต้องมี ส.ส.ในมือมากกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ได้รวมกับ ส.ว. หากมีการโหวตในสภาผู้แทนฯ

นี่คือข้อจำกัดทางการเมืองที่เป็นจริง

ฉะนั้น หากจะมาในแนวทางนี้ก็ต้องหาเสียง ส.ส.ให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นก็ไปไม่รอดไม่สามารถบริหารประเทศได้

เว้นแต่ว่า ส.ส.ไม่สามารถจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องหา “คนนอก” ที่ได้รับการยอมรับให้มาเป็นนายกฯแทนหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครช่วยได้

กลัวว่าหวยมันจะออกมาอย่างนี้สิครับ...

“สายล่อฟ้า”