การโฆษณา คือการแนะนำให้บุคคลที่สองหรือสาม ได้รู้จักและเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเสนอต่อมวลชน โดยผ่านสื่อหลักต่างๆ และสื่อออนไลน์ตามยุคสมัย

ในเชิงธุรกิจ การโฆษณาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญพอๆกับตัวสินค้านั้นๆ หรือบางทีให้ความ สำคัญมากกว่าตัวสินค้าที่นำเสนอด้วยซ้ำไป

การแข่งขันของสินค้าต่างๆในการโฆษณาตนเองทางทีวี จึงมีเป็นอย่างสูง เม็ดเงินรวมในการโฆษณาไม่ได้ด้อยกว่าเมื่อหลายปีก่อน

แต่ที่สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องโอดโอยว่า โฆษณาลดลงนั้น เป็นเพราะจำนวนช่องที่มีเพิ่มขึ้นอีกมากมายต่างหากครับ

อำนาจต่อรองไม่ได้อยู่ที่สถานีโทรทัศน์เหมือนก่อน แต่อยู่ที่เอเจนซี่โฆษณา จะเล็งเห็น หรือภักดีกับสถานีช่องใดมากกว่า

เมื่อการเป็นเช่นนี้ การคัดกรองโฆษณา จากทางสถานี จึงค่อนข้างจะมีน้อย เพราะเกรงใจเอเจนซี่

โฆษณาที่เกินจริง โฆษณาที่บอกความจริงไม่หมด โฆษณาแฝงที่กินเข้ามาในเนื้อหาของรายการ จึงโผล่เข้ามายุ่บยั่บ ไม่เว้นช่องใหม่ช่องเก่า

สถานีต้องการอยู่รอด ต้องการกำไรบ้าง หรือขอเจ็บตัวน้อยที่สุด จึงต้องนั่งทำตาปริบๆ ดูการโฆษณาที่บางชิ้นก็ค่อนข้างไร้จรรยาบรรณ

กลายเป็นผู้ร้ายโดยความจำใจอย่างน่าเวทนา

ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอลในวันนี้ เหมือนน้ำท่วมปาก อยู่ในสภาพวังเวง ภาครัฐก็มะงุมมะงาหราไปวันๆ

ถนัดแต่ในทางกำกับดูแล คอยจับผิด แต่ไม่เชี่ยวชาญในการช่วยแก้ปัญหา

สรุปก็คือ...ผู้ที่เจ๊กอั้กในขั้นสุดท้าย นอกจากผู้ประกอบการแล้ว ก็คือประชาชน

ผู้บริโภคสื่อ ต้องรับทั้งขนมหวานและยาพิษพร้อมๆกัน

จากโฆษณาบางชิ้นผ่านสื่อ ที่ผลิตขึ้นมาแบบไร้จรรยาบรรณ ตีหัวเข้าบ้าน ดั่งที่เราเห็นกันในวันนี้!!

...

“สันติพงษ์ นาคประดา”

‘‘แจ๋วริมจอ’’