กล้วยไม้ชนิดนี้ พบขึ้นทั่วไปในพื้นที่แถบ จังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย สกลนคร และ จ.ชัยภูมิ โดยส่วนใหญ่จะพบขึ้นกระจายอยู่บนคาคบไม้ใหญ่ของป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ซึ่งบางครั้งจะพบขึ้นอยู่กับกิ่งไม้แห้ง ซากวัชพืชตายแห้งแทรกอยู่ตามซอกผาหินบนเขาตั้งแต่ระดับต่ำขึ้นไปจนถึงภูเขาสูง และมักจะขึ้นเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นหย่อมๆ 5-10 ต้นขึ้นไป ใครที่เคยขึ้นเขาเข้าป่าในช่วงที่ “เอื้องมณีน้อย” กำลังมีดอกจะดูสวยงามกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักยิ่งนัก

เอื้องมณีน้อย มีชื่อเฉพาะคือ SCHOENORCHIS SEIDEN FADENIIPRADHAN มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกที่มีการ เจริญทางปลายยอด ลำต้นสั้นนิดเดียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อลำต้น เป็นรูปรีคล้ายรูปใบมะขาม ปลายมน โคนเป็นกาบหุ้มลำต้นบริเวณข้อ เนื้อใบหนาและแข็ง ผิวใบเรียบค่อนข้างหยาบ สีเขียวสด ใบดกเรียงกันเป็นระเบียบหนาแน่นมาก

ดอก ออกเป็นช่อกระจะสั้นๆตามซอกใบช่อดอกตั้งขึ้นไม่ห้อยลง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยไม่น้อยกว่า 20 ดอกขึ้นไป มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบดอกเป็นรูปขอบขนานแต่มีขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยง กลีบปากเป็นรูปแถบ ปลายกลีบมีเนื้อเยื่อนูน 2 อัน โคนกลีบมีเดือยดอกขนาดใหญ่ ดอกเป็นสีชมพู หรือ สีชมพูอมม่วงอ่อน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต้องใช้จมูกสูดดมใกล้ๆจึงจะได้กลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 0.2 ซม. เวลามีดอกหลายๆช่อในกอเดียวจะดูเหมือนกับว่าช่อดอกใหญ่กว่าใบและต้นของ “เอื้องมณีน้อย” สวยงามน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นที่แตกออกตามข้อลำต้น หรือตัดยอดนำไปแขวนในที่รำไรแล้วใช้น้ำยาเร่งราก ชื่อบีวัน ฉีดพ่นที่รอยตัด 2 วันครั้ง จะทำให้รากงอกพร้อมนำไปปลูกได้

...

ปัจจุบัน “เอื้องมณีน้อย” หายากมาก นานๆจะมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 24 แผง “คุณหล้า–คุณโอม” ครับ.

“นายเกษตร”