ชี้อนาคต – ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่าน ยิ้มกริ่มหย่อนบัตรในคูหาเลือกตั้งที่กรุงเตหะราน เมื่อ 19 พ.ค. ส่วนนายเอบราฮิม ไรซี คู่ชิงอันดับ 1 (รูปเล็ก) ชูนิ้วเปื้อนหมึก หลังไปลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้งอีกแห่งทางใต้กรุงเตหะราน (เอเอฟพี)
ป่านนี้คงรู้แล้วว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกมายาวนาน เมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ใครคือผู้ชนะ
แม้จะมีผู้ลงสมัครหลายคน แต่เอาเข้าจริงๆ ศึกชิงเก้าอี้ผู้นำครั้งนี้เป็นการชิงดำระหว่างตัวเก็งแค่ 2 คน คือ นายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน วัย 68 ปี ผู้กุมอำนาจมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งมีนโยบาย “สายกลาง” กับ นายเอบราฮิม ไรซี วัย 56 ปี นักการศาสนาและอดีตอัยการ ซึ่งมีแนวทางออกไปทาง “อนุรักษนิยมสุดโต่ง”
ผู้สมัครแถวหน้าอีก 2 คน คือนายเอสฮัค จาฮานกิรี นักการเมืองสายปฏิรูปคล้ายรูฮานี และนายโมฮัมหมัด บาเกอร์ กาลิบาฟ นายกเทศมนตรีกรุงเตหะราน ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งคล้ายไรซี ต่างชิงถอนตัวหลังโพลชี้ว่าแทบไม่มีโอกาสชนะ จากนั้นจาฮานกิรีประกาศสนับสนุนรูฮานี ขณะที่กาลิบาฟหนุนไรซี
ส่วนอดีตประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดิเนจาด ผู้อื้อฉาว ซึ่งเป็นพวกอนุรักษนิยมหัวรุนแรงสุดโต่งถูก “สภาผู้พิทักษ์” องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดสั่งห้ามลงชิงเก้าอี้ผู้นำครั้งนี้ด้วย หลังเขาเกิดขัดแย้งกับ “สถาบันสูงสุด” ซึ่งมี อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำ ทางจิตวิญญาณของประเทศเป็นประมุข
ในช่วงกุมอำนาจมา 4 ปี รูฮานีซึ่งเป็นนักการศาสนาหัวปฏิรูปใช้นโยบายสายกลาง ให้เสรีภาพประชาชนมากขึ้น และพัวพันประนีประนอมกับมหาอำนาจตะวันตกมากขึ้น หวังให้อิหร่านถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกน้อยลง และมีปฏิสัมพันธ์ค้าขายกับโลกภายนอกได้มากขึ้น
...
ผลงานที่โดดเด่นแต่เป็นที่ถกเถียงคือการบรรลุข้อตกลงโครงการ “นิวเคลียร์” กับสหรัฐฯและมหาอำนาจอีก 5 ชาติในปี 2558 ยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเห็นว่าใช้ “ไม้แข็ง” กับอิหร่านมานานไม่ได้ผล
ภายใต้ข้อตกลงนี้ อิหร่านยอมระงับโครงการนิวเคลียร์บางส่วน เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนจากสหรัฐฯ รวมทั้งการส่งออกน้ำมัน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างกันดีขึ้นมาก
แต่อะไรๆ ที่ดูจะไปได้ดีกลับมีปัญหา หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เพราะเขาต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านสุดลิ่ม ชี้ว่าเป็น “ข้อตกลงที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมี” เพราะสหรัฐฯอ่อนข้อให้อิหร่านมากเกินไป จะทำให้อิหร่านเข้มแข็งขึ้น และไม่อาจยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้
ทรัมป์ถึงขั้นประกาศจะทบทวนข้อตกลงนี้ภายใน 90 วัน และอาจล้มเลิกข้อตกลงในที่สุด เขายังจะเดินทางไปเยือน “ซาอุดีอาระเบีย” ศัตรูตัวเอ้ของอิหร่านในสัปดาห์นี้ด้วย
ส่วนนายไรซีคู่แข่ง เป็นพันธมิตรและเคยเป็นลูกศิษย์ของอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ประมุขสูงสุด ก่อนลงชิงเก้าอี้ผู้นำเขาไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนใหญ่ทำงานอยู่หลังฉากในฐานะอัยการ และเป็นประธานมูลนิธิการกุศล “อิหม่าม เรซา” อันทรงอิทธิพล เขาจึงเป็นตัวแทนของสถาบันสูงสุดก็ว่าได้
ไรซีชูนโยบายให้อิหร่าน “พึ่งพาตนเอง” และเศรษฐกิจแบบ “อดทนต่อต้าน” แทนที่จะพึ่งพาต่างชาติ เขายังพยายามดึงคะแนนเสียงจากชนชั้นผู้ใช้แรงงาน โดยสัญญาจะช่วยสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ชูสถานภาพพิเศษของตนที่เป็น “ซัยยิด” หรือผู้สืบเชื้อสายของ “ศาสดาโมฮัมหมัด” ขึ้นมาเป็นจุดขายด้วย

ไรซีโจมตีรูฮานีว่ายอมสยบให้สหรัฐอเมริกามากเกินไป และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ อัตราคนว่างงานสูงถึง 12.5% ยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาวสูงเกือบ 30% ส่วนผู้ที่มีงานทำก็ทำงานในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน เขายังชี้ว่านโยบายทางการทูตเปิดประตูรับโลกภายนอกมากขึ้นของรูฮานี ไม่สามารถลดปัญหาความยากจนและการว่างงานได้
ส่วนรูฮานี ก็พยายามชูนโยบาย “ความต่อเนื่อง” โดยอ้างว่าช่วงที่ตนเป็นผู้นำ 4 ปีแรกยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่หมักหมมมาตั้งแต่ยุคนายอาห์มาดิเนจาดได้ และว่า ปัญหาสำคัญเกิดจากการถูกคว่ำบาตรมาเป็นเวลานาน ตนจึงต้องการเป็นผู้นำอีกสมัยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
รูฮานีสัญญาว่าจะผลักดันให้สหรัฐฯยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมากขึ้น เพราะการถูกคว่ำบาตรทำให้อิหร่านกระดิกพลิกตัวลำบากไม่สามารถค้าขายหรือทำข้อตกลงทางการค้าต่างๆ กับประเทศในยุโรปและเอเชียได้ และอิหร่านจะเดินย้อนกลับไปปิดประเทศแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว
รูฮานียังพยายามทำให้ประชาชนเลือกระหว่างฝ่าย “สุดโต่ง” กับฝ่าย “ปฏิรูป” ซึ่งจะให้ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งก็ได้ผลไม่น้อย โดยเฉพาะในหมู่คนร่ำรวยในเมืองใหญ่ๆ เขายังชี้เป็นนัยถึงอดีตของไรซีที่เคยเป็นอัยการในยุคทศวรรษ 1980 ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากถูกประหารชีวิต
...
ศึกชิงเก้าอี้ผู้นำครั้งนี้จึงสำคัญเป็นพิเศษ เพราะอิหร่านอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ประชาชนต้องเลือกว่าจะให้โอกาสรูฮานีสานต่อนโยบายประนีประนอมกับสหรัฐฯ และโลกภายนอกต่อไป หรือถอยกลับสู่ยุคเดิมๆ
แต่ผู้ที่มีส่วนต่อการตัดสินใจของชาวอิหร่านอย่างสำคัญ ก็คือนายโดนัลด์ ทรัมป์ นั่นเอง เพราะเขาอาจทำให้ชาวอิหร่านไม่น้อยเริ่มหวาดระแวงว่า ความหวังที่จะญาติดีกับสหรัฐฯ ไม่มีประโยชน์สู้ยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเองดังที่เคยเป็นมาดีกว่า!
บวร โทศรีแก้ว