ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศที่เรื้อรังมานาน
เป็นความขัดแย้งที่กำเนิดขึ้นมาในปี 2491 ชนวนจากความพยายามจะแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มหัวคิดเก่า
สถานการณ์ร้อนระอุเกิดต่อเนื่อง ตั้งแต่เผาโรงเรียน สถานที่ราชการ ปล้นสะดม เรียกค่าคุ้มครอง จนรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นำไปสู่เงื่อนไขการหายตัวไปของ หะยี- สุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา โต๊ะอิหม่ามที่มีชื่อเสียงในอดีต เป็นผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยมุสลิม
สุดท้ายมีการตั้ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในปี 2524 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งตามที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่า ต้องใช้การพัฒนานำการปราบปราม
มอบหน้าที่การพัฒนาให้ ศอ.บต.ตั้ง กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท.43 ขึ้นตรงแม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลเรื่องการปราบปราม
เหตุความไม่สงบยังคงเกิด ทว่าความรุนแรงที่พุ่งเป้าผู้บริสุทธิ์น้อยลง
กระทั่งมีการเสนอ ยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 เมื่อปี 2545 ยุติบทบาทเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเจรจากลุ่มแกนนำและผู้ร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ
กลายเป็นปฐมบทของ “มหากาพย์ไฟใต้” ครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีต่อมา
หลายรัฐบาลพยายามแก้ปมปัญหา แม้ตอนหลังตัดสินใจดึงโครงร่างของ ศอ.บต.กลับมา แต่ดูเหมือนว่าช้าเกินกว่าจะเยียวยาดับความร้อนแรงชายแดนภาคใต้
สูญเสียชีวิตตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ ครู พระ คนท้องถิ่น และผู้ก่อการไม่ต่ำกว่า 6,000 คน บาดเจ็บร่วมหมื่น ผลาญงบประมาณประเทศจำนวนมหาศาล
แถมปัจจุบันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเริ่มเกิดความหวาดระแวงแทงข้างหลังกันเอง มี กองรายได้นอกระบบ ของ “ธุรกิจมืด” เป็นปัจจัยพยายามไม่ให้ไฟใต้ดับ
...
ส่วนผู้บังคับบัญชาบางคนรับชอบ แต่ไม่ยอมรับผิด ขณะที่หลายคนเอาหัวคำนวณเลขคณิตคิด “บังหลวง” ยอมติดบ่วงผูกเงื่อนตายให้ดูยากคลายปมปัญหา
ปล่อยเรื่องราวของมหากาพย์ไฟใต้ละลายผลประโยชน์เข้ากระเป๋า.
สหบาท