ทุกๆครั้งที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะแจกเงินคนจน ผมมักจะรู้สึกไม่สบายใจอยู่เสมอ และจะต้องออกมาแสดงออกในเชิงท้วงติงแทบทุกครั้ง
นี่ก็เอาอีกแล้วเมื่อ 2 วันก่อนนี่เอง มีข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่าคลังเล็งจะแจกเงินคนจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี
โดยถือว่า 3 หมื่นบาทต่อปีเป็นเส้นวัดความยากจน ใครได้ต่ำกว่านี้ก็จะแจกให้ เพื่อให้มีรายได้ถึง 3 หมื่นบาท ว่างั้นเถอะ
ผมอ่านเฉพาะพาดหัวข่าวก็ตกใจ นึกว่าจะแจกกันอีกแล้ว หรือรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาแจกหนอ? เห็นบ่นๆอยู่ว่าการเก็บภาษีบางอย่างได้ไม่ตามเป้า
แต่พออ่านในรายละเอียดค่อยโล่งใจขึ้นมาเยอะ เมื่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านชี้แจงว่าในหลักการก็คือ จะหาทางช่วยเหลือและดูแลคนที่ยังมีรายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาทต่อปีให้มีรายได้ถึง 3 หมื่นบาทให้จงได้
อาจจะมีช่วยในเรื่องสวัสดิการบ้าง แต่หลักใหญ่แล้วจะเป็นการช่วยเหลือในแนวทางที่จะให้คนจนสามารถช่วยตัวเองได้ในอนาคต
บางประเทศเขาใช้วิธีสนับสนุนการศึกษาลูกๆของคนจน หรือกำหนดเป็นเบี้ยขยันเพื่อจูงใจให้ขยันหมั่นเพียรเพิ่มขึ้น
หรืออาจจะทำอะไรในลักษณะที่จะเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มความสามารถของคนจน ที่ไม่ใช่เป็นการแจกเงินกันอย่างตรงไปตรงมา
ถ้าเป็นแบบนี้ผมก็ว่า โอเคเลยครับ อย่าให้เป็นการแจกกันตรงๆ เหมือนอย่างที่เคยแจกกันมาแล้วหลายครั้งหลายหนเป็นอันขาด
เพราะจะเป็นการสร้างนิสัยรอรับแจกลูกเดียวจากคนยากคนจน ซึ่งน่าจะมีอยู่มากพอสมควรทั่วประเทศในขณะนี้
การรอรับแจกเพียงสถานเดียวจะทำให้ผู้คนเคยตัวไม่ขยันหมั่นเพียรไม่ต่อสู้ชีวิต ซึ่งจะเป็นผลให้ยากจนลงไปอีก
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยด้วยว่าตัวเลขคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นวัดความจนในประเทศไทยน่าจะมีถึง 4 ล้านคน
...
ต้องรอให้จดทะเบียนครบเสียก่อนเสร็จแล้วก็จะต้องมาคัดกรองกันอีกว่าจะมีคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับสวัสดิการต่างๆจริงหรือไม่
เมื่อพูดถึงขบวนการคัดกรอง ผมก็ขอฝากให้กระทรวงการคลังคัดกรองกันให้ดีๆ พยายามแยกคนจนที่แท้จริงออกมาจากคนจนไม่แท้จริง หรือคนแกล้งจนให้จงได้
เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อนโน้น เราเคยมีศัพท์ที่ฮิตในช่วงนั้นว่า “ยากจน” กับ “อยากจน” คือคนจนที่แท้จริง กับคนที่ไม่ได้ยากจน แต่ “อยาก” ที่จะจน เพื่อหวังรับความช่วยเหลือกับเขาด้วย
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคราชการไทยที่ต้องการจะกำหนดว่าอำเภอไหนบ้างเป็นอำเภอยากจน สมควรมีแผนช่วยเหลือเป็นพิเศษ ในขณะที่อำเภอไม่ยากจนก็จะให้ใช้การพัฒนาอีกแบบหนึ่งที่เหมาะกว่า
ปรากฏว่า อำเภอที่ได้รับการประกาศว่าเป็นอำเภอดีแล้ว ไม่ยากจนแล้ว แทนที่จะดีใจต่างพากันร้องเรียนเป็นแถวๆ เพราะเกรงว่าเมื่อพ้นจากความยากจนจะได้รับงบประมาณหรือโครงการช่วยเหลือน้อยลง หรืออาจไม่ได้เพิ่มเหมือนอำเภอยากจน
ทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “อยากจน” แพร่หลายขึ้นในแวดวงพัฒนายุคก่อน
มาถึงยุคนี้ซึ่งมีทั้งแจกเงิน ทั้งการให้สวัสดิการ หรือล่าสุดก็อาจจะมีวิธีการช่วยเหลือที่แม้จะดูดีกว่าวิธีเก่าๆ แต่ก็ล้วนเป็นสิ่งจูงใจให้คนที่ไม่จน อยากจะเป็นคนจนอยู่พอสมควร
ผมก็ขอฝากให้ทางกระทรวงการคลังสั่งการให้สถาบันต่างๆ ที่รับผิดชอบในการพิจารณากลั่นกรองผู้ที่มาจดทะเบียนคนจนอย่างรอบคอบด้วย
พยายามกรองหรือกลั่นให้เหลือเฉพาะคนยากจนโดยแท้จริงเท่านั้น
อย่าให้คน “แกล้งจน” หรือ “อยากจน” หลุดตาข่ายมาขอรับความช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์หรือสวัสดิการใดๆ ของคน “ยากจน” เชียวนาครับ ถ้าหลุดมาได้ก็ขอให้น้อยที่สุด
เสียดายเงินภาษีอากรของประชาชนน่ะครับ หากจะต้องไปจ่ายให้แก่บุคคลประเภทนี้...แม้แต่บาทเดียว ผมก็รู้สึกเสียดายครับท่านรัฐมนตรี.
“ซูม”