ชักศึกเข้าบ้าน สัญญาณไม่ดีแน่

กำลังจะพูดถึงสถานการณ์โลกที่ล่อแหลมชักนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้โดยเฉพาะในคาบสมุทรเกาหลีที่ตึงเครียดอยู่ในขณะนี้

เผอิญที่ว่าเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่อยู่ในเงื่อนไขตรงนั้นด้วย เพราะมีพื้นที่ติดกับเกาหลีเหนือกำลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากคนเก่าเกิดปัญหาถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเลยทีเดียว

การเลือกตั้งผู้นำคนใหม่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 9 พ.ค.60 แม้จะมีผู้สมัครหลายคน ตัวเต็งๆมีอยู่ 2-3 คน

แต่ที่เต็งหนึ่งและคาดว่าน่าจะได้รับการเลือกตั้งคือ “มุน แจ-อิน” จากพรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน

“มุน แจ-อิน” วัย 64 ปี เคยเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งแข่งกับ “ปาร์ค กึน-เฮ” อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาแล้ว แต่พ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียด 52% ต่อ 48%

พูดง่ายๆว่าไม่ได้ใหม่สดแกะกล่อง แต่มีพื้นฐานทางการเมือง ซึ่งได้รับการยอมรับมากพอสมควรจนเกือบจะได้เป็นผู้นำเกาหลีใต้มาแล้ว

ความเป็นจริงทางการเมืองนโยบายต่างประเทศของเกาหลีใต้นั้น ยึดความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นมาตลอด

“สหรัฐฯ” จึงใช้เป็นฐานสำคัญในด้านการทหารอย่างสนิทใจ ไม่ต่างกับญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ และยังมองจีนด้วยความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน

หลังจากที่เกาหลีเหนือได้แสดงออก ซึ่งไม่ต่างกับการยั่วยุด้วยการทดลองขีปนาวุธว่าด้วย “นิวเคลียร์” มาตลอดโดยไม่แคร์ประเทศใดทั้งสิ้น

ได้สร้างความไม่พอใจแก่สหรัฐฯและความหวั่นไหวของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพราะอยู่ระหว่างกลางของทั้ง 2 ประเทศ

ที่พร้อมจะถูกเกาหลีเหนือยิงถล่มใส่ได้ตลอดเวลา

...

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ “มุน แจ-อิน” นั้น มีนโยบายที่แตกต่างไปโดยเฉพาะกับเกาหลีเหนือด้วยเหตุผลที่ว่า ควรจะใช้วิธีการเจรจาผ่อนคลายด้วยสันติวิธีมากกว่าใช้กำลังทหาร หรืออาวุธสงครามร้ายแรง

เพราะสถานการณ์ที่เป็นจริงนั้นก็กระทบกระทั่งมาตลอด แต่ไม่มีเหตุรุนแรงยังสามารถเจรจากันได้คุยกันก็จบทุกครั้งไป

คือเจรจาประนีประนอมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากกว่า

อีกทั้งการที่สหรัฐฯโดย “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ตอบโต้เกาหลีเหนือด้วยการส่งเรือรบเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลี พร้อมกับนำระบบป้องกันขีปนาวุธ “ทาด” ที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาติดตั้งในเกาหลีใต้

นั่นยิ่งทำให้สถานการณ์ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางการคัดค้านไม่เห็นด้วยของชาวเกาหลี แม้สามารถใช้งานในเบื้องต้นได้ แต่ด้วยการปิดล้อมของชาวเกาหลีใต้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้

“มุน แจ-อิน” ก็แสดงการคัดค้าน รวมถึงไม่ยอมให้ควักเงินเป็นค่าใช้จ่าย

2 นโยบายสำคัญของเขาที่แตกต่างไปนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งได้

เพราะคนเกาหลีใต้น่าจะพอใจกับคำว่า “ประนีประนอม” ที่อยู่กันไปได้มากกว่าการศึกสงครามที่มีแต่ความสูญเสีย

ที่สำคัญก็คือ ความเป็น “ชาติพันธุ์” เดียวกัน แม้จะแยกเป็น 2 ประเทศก็ตาม.

“สายล่อฟ้า”