นักเลงพระรุ่นเก่า เอาว่ารุ่นก่อน 2500 นิยมพระเมืองสุพรรณฯกันมาก เล่ากันว่า พระชุดกิมตึ๋ง สี่กร มอญแปลง ประคำรอบ และปรกชุมพล ของวัดพลายชุมพล (ใต้วัดพระรูปไปเล็กน้อย)...ใครมีครบสี่องค์ เอาสมเด็จวัดระฆังไปแลก...ยังไม่ได้

นักเลงพระรุ่นใหม่ เหมาพระชุดกิมตึ๋งไปไว้วัดพระรูป...ซึ่งโด่งดัง จากพระขุนแผนไข่ผ่าฯ...และในชุดเดียวกับขุนแผนไข่ผ่าฯ ยังมี พระขุนไกร พระกุมารทอง พระพลายงาม และพระที่พบน้อยกว่า...คือพระพันวษา

การเล่นพระของนักเลงรุ่นนั้น ไม่มีการตลาดมาแทรก เข้าใจว่าคงใช้จินตนาการมาจากวรรณคดี พระเมืองสุพรรณฯ...ทั้งที เริ่มจากขุนแผน กุมารทอง ฯลฯ แล้ว องค์ที่พิมพ์ประพิมประพายนอกจากมีซุ้ม ยังมีฉัตรเหนือเศียร 3 ถึง 6-7 ชั้น ตั้งชื่อ พระพันวษา ก็น่าจะเข้าเค้า

มนัส โอภากุล เขียนไว้ในหนังสือ พระฯเมืองสุพรรณ ว่า พระวัดพระรูป พระวัดพลายชุมพล เมื่อร้อยปีที่แล้ว มีเกลื่อนอยู่กับซากเจดีย์เก่า...หนุ่มสุพรรณฯ จะไปเกี้ยวสาวต่างถิ่น มักขุดคุ้ยเอาติดตัวไป

เวลามีเรื่องตีกัน ทั้งมีดทั้งไม้...คนมีพระมักกลับบ้านได้ปลอดภัย แบบแมลงวันไม่ได้กินเลือด

ช่วงเวลานั้น ยังไม่นิยมเอาพระเข้าบ้าน ตอนเดินกลับผ่านวัดก็นิมนต์ท่านไว้ที่เก่ามาถึงช่วงเวลา พระชุดขุนแผน เริ่มมีราคา คนสมุทรสงครามเอามะพร้าวห้าวใส่เรือมามะพร้าวลูกเดียวแลกได้พระสององค์ ประมาณการว่า องค์ละครึ่งสตางค์

พระชุดขุนแผนสุพรรณ ถึงวันนี้ เท่าที่พบ จึงเป็นพระสภาพ “ใช้แล้ว” สึกช้ำ กลมกลึงไปทั้งองค์ นานๆจะเจอที่มีแง่สันเหลี่ยมคมๆสักองค์

เปิดดูดัชนีราคาพระ ที่มีคนรวบรวมไว้เป็นแนวทาง ขุนแผนวัดพระรูป องค์สวยๆราคาทะลุหลักแสน พิมพ์อื่นๆคงจะลดหลั่นลงมาแน่นอน ทุกพิมพ์ที่นิยม ก็ต้องมีของปลอมตามมา

นิยมมาก แพงมาก กระบวนการปลอม ก็ซับซ้อนตาม ตำหนิมีตรงไหน ก็ทำ

...

พิมพ์ไหน ไม่ค่อยมีคนรู้จัก พูดตรงๆ ไม่นิยม ของปลอมก็ลดน้อยลง

มีสักพิมพ์ใหม่...ยังไม่มีของปลอม...ผมเล่นพระชุดสุพรรณมากว่าห้าสิบปี อยากจะแน่ใจ มีสักพิมพ์สองพิมพ์ พิมพ์ที่แน่ใจมากกว่า ก็น่าจะเป็นพระพันวษานี่เอง

มนัส โอภากุล เขียนไว้ว่า พระพิมพ์นี้ มักเข้าใจผิดกันว่า เป็นพิมพ์ “มอญแปลง” หรือพิมพ์มอญโพกผ้า เข้าใจว่าเหนือพระเศียรเป็นชั้นๆนั้นคือผ้าโพกหัว แต่ถ้าพิจารณาให้ดีๆ ก็จะเห็นว่าเป็นฉัตรของพระมหากษัตริย์

ผมเคยเช่าพระพิมพ์นี้จากแม่กลอง ราคาร้อยบาท ให้ลูกพี่ไป ต่อมาปรากฏอยู่ในหนังสือ ภาพพระเครื่อง ของประชุม กาญจวัฒน์

ตลอดชีวิตจับกับมือ อีกสององค์ รวมทั้งองค์ในคอลัมน์วันนี้ ขนาดค่อนข้างเขื่อง แต่ย่อมกว่าขุนแผนไข่ผ่าฯ ข้อแปลกใจ ก็คือ ทำไมทุกองค์ไม่เหมือนกัน

คุณมนัสอธิบายข้อสงสัยนี้ว่า นอกจากขนาดองค์พระไม่เท่ากัน ยอดแหลมของกรอบบางองค์ก็ตรง บางองค์ก็เอียงซ้าย เอียงขวา เหมือนผลมะม่วง เส้นรอบองค์พระ หรือเม็ดประคำ ก็หาความแน่นอนไม่ได้

แต่ความไม่เหมือนประดามีเหล่านี้ คุณมนัสบอกว่า นักเลงพระสุพรรณ ดูเป็นทุกคน โดยยึดความแห้ง ความเก่าของเนื้อเป็นหลัก

โดยทั่วไปพระพันวษา เนื้อหนึกแกร่ง ละเอียดพอๆกับพระขุนแผน แต่มีเม็ดทรายน้อยกว่า

เนื่องจากหาพระดูยาก...ราคาวันนี้จึงอยู่ใจ แต่โดยศักดิ์ศรี ชุดขุนแผนสุพรรณ ถ้าเริ่มที่หลักหมื่น เทียบกับพระใหม่ ที่ปั่นราคาขายกันในสมัยนี้ น่านิมนต์ขึ้นคอกว่าหลายเท่าทีเดียว.

O พลายชุมพล O