สื่อมวลชนไทยฉลองวันเสรีภาพสื่อโลก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยว เนื่องจากองค์กร “นักข่าวไร้พรมแดน” จัดให้เสรีภาพสื่อไทยอยู่ในอันดับที่ 142 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ ร่วงจากอันดับที่ 136 ของปีก่อน เสรีภาพสื่อไทยได้อันดับต่ำกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และแม้แต่พม่า ซึ่งเพิ่งจะมีเลือกตั้งเป็นครั้งแรก
เสรีภาพสื่อไทยเคยได้รับยกย่อง เป็นผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียน สูสีกับฟิลิปปินส์ แต่เสรีภาพสื่อไทยถูกลดลงตาม ลำดับ หลังการรัฐประหาร 2557 องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนยกให้สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ มีเสรีภาพดีสุด สหรัฐฯกับอังกฤษได้อันดับที่ 43 และ 40 ส่วนประเทศเสรีภาพสื่อต่ำสุดคือ เกาหลีเหนือ ซีเรีย และจีน
ความห่อเหี่ยวของสื่อมวลชนไทย ถูกซ้ำเติมด้วยมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ผ่านร่างกฎหมายควบคุมสื่อด้วยเสียงท่วมท้น สมาชิกส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้ามีกฎหมายปิดปากสื่อและปิดปากประชาชนได้ รัฐบาลจะมีเสถียรภาพมั่นคง สมาชิกบางคนอภิปรายว่าต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ เพราะสื่อชอบละเมิดคนอื่น สมาชิกท่านนี้เป็นนายตำรวจใหญ่
ในฐานะที่เป็นนายตำรวจใหญ่ น่าจะรู้ดีว่า ปัจจุบันมีกฎหมายมากมาย ผู้เสียหายมีสิทธิ์ฟ้องสื่อได้ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เช่น ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ข้อหายุยงให้ประชาชนก่อความปั่นป่วน หรือความ กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ข้อหายุยง ให้ประชาชนก่อกบฏ ทำลายความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฯลฯ สื่อ ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย
มาตรการสำคัญที่ สปท.เชื่อว่า จะใช้ควบคุมสื่อได้ คือการให้ผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อตีทะเบียน ขอใบอนุญาต และถอนใบอนุญาต ได้ถ้าไม่อยู่ในโอวาทรัฐ อันที่จริง สื่อกระแสหลัก ต้องตีทะเบียนอยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นองค์กรสื่อ หนังสือพิมพ์ต้องจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.จดแจ้ง การพิมพ์ ส่วนวิทยุและโทรทัศน์อยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งกฎหมาย กสทช.
...
นายกรัฐมนตรีเล่าว่า ได้มอบหมาย ให้บางฝ่ายไปศึกษาสื่อต่างประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างการออกกฎหมายสื่อไทย แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปศึกษา ไปได้แบบอย่างมาแค่สิงคโปร์กับจีน ไม่ได้อ้างถึงประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เพราะประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่มีกฎหมายควบคุมสื่อ แต่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา
เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ เรียกร้องถึงรัฐบาล ถึงสื่อด้วยกันเองและประชาชนทั่วไปยืนยันว่า เสรีภาพสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่อาจยอมรับได้ หวังว่ารัฐบาลจะได้ยินชัด.