เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งใน ภาคใต้และภาคเหนือ ที่ผ่านมาเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหลักของประเทศเริ่มจะมีปัญหามากขึ้นโดยเฉพาะที่เกิดจากกรณี หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อซ่อมบำรุงมีเป็นประจำทุกปี ทำให้หลายฝ่ายห่วงกังวลถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งไม่พ้นกรณีที่เรา ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป

ความแตกต่างระหว่าง โรงไฟฟ้าหลักกับโรงไฟฟ้าสำรองหรือหมุนเวียน ที่จะต้องนำมาพิจารณาสำหรับแผนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ข้อดี เดินเครื่อง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง ต้นทุนปานกลาง ข้อเสียคือ ความเสี่ยงในด้านการจัดส่งเชื้อเพลิงและต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

โรงไฟฟ้าถ่านหิน ข้อดีคือดินเครื่องได้ต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตต่ำ มีปริมาณสำรองมากที่สุด ข้อเสีย ต้องมีระบบป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

ส่วนโรงไฟฟ้าสำรอง เช่น โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา ถึงจะเดินเครื่องได้ต่อเนื่องแต่มีต้นทุนสูง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ข้อดีคือสามารถเดินเครื่องผลิตได้อย่างรวดเร็ว แต่การผลิตเป็นระยะเวลาสั้นๆขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ โรงไฟฟ้าชีวมวล ต่างๆ ข้อดีคือใช้เชื้อเพลิงจากในประเทศต้นทุนปานกลาง ลดภาระในการกำจัดของเสีย แต่ข้อเสีย เชื้อเพลิงจะผันแปรตามฤดูกาล การเดินเครื่องไม่ต่อเนื่อง ราคาเชื้อเพลิงขึ้นอยู่กับปริมาณและการขนส่ง

สุดท้าย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากลม หรือแสงอาทิตย์ ข้อดีไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีค่าเชื้อเพลิง แต่ก็มีความไม่แน่นอนสูง ต้นทุนการผลิตก็สูงไปด้วย

...

เพราะฉะนั้นการมองหาทางเลือกในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวจึงต้องพิจารณาจาก ความมั่นคงในการผลิตและราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องได้อย่างแน่นอนและไม่แน่นอนจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำและพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท

แต่ต้องเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าหลัก คือโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าได้แน่นอนต่อเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินและมีสัญญาจ่ายไฟฟ้าที่แน่นอน จึงจะสามารถจัดให้เป็นพลังงานหลักของประเทศได้

ส่วนพลังงานหมุนเวียน เป็นทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการใช้ไฟฟ้าหลัก ซึ่งตาม แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558 ถึง 2579 จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2579 ซึ่งมีปัญหาคือไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในที่สุดต้องพึ่งการผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักอยู่ดี

การผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าหลักและพลังงานหมุนเวียนจึงต้องเดินไปด้วยกันเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานเอาไว้ในสัดส่วนที่เหมาะสม การจัดสัดส่วนพลังงานที่เหมาะสมย่อมก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านราคา ความมั่นคง ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศในระยะยาวได้เป็นอย่างดีด้วย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th