รอดตายจากอุบัติเหตุบนถนน เทศกาลสงกรานต์ กลับถึงบ้านแล้ว ลองมาคิดกันสักนิดจะได้ไหม...ที่เรารอดกันมาได้ เพราะใช้คาถาเรียกสติกัน...หรือเปล่า?
ตอนหนึ่ง...จากธรรมะเล่มน้อย ลำดับที่ 11 ปี 2556 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ท่านอาจารย์พุทธทาส สอนเรื่อง “สติ” ไว้ว่า
วันวันหนึ่ง มีผัสสะกี่ครั้ง กี่สิบ กี่ร้อยครั้ง...พอเห็นอะไรเข้า น่ารักก็รักเสียแล้ว น่าเกลียดก็เกลียดเสียแล้ว น่าโกรธก็โกรธเสียแล้ว น่ากลัวก็กลัวเสียแล้ว น่าเศร้าก็เศร้าเสียแล้ว มันแป๊บเดียว
ต้องมีสติ ขนเอาปัญญามาเร็วให้ทันเวลา ตัดกระแสนี้ให้ทัน
กระแสการปรุงแต่งแห่งกิเลสที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละเขาเรียกสั้นๆว่า กระแสแห่งตัณหา
มีคนทูลถามพระพุทธเจ้า อะไรจึงจะเป็นเครื่องสกัดกั้นกระแสแห่งตัณหา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น
กระแสที่จะโง่เมื่อผัสสะ แล้วมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน ...มีทุกข์ ก็จะถูกสกัดกั้นเสียได้ด้วยสติ
ต้องใช้ในทุกกรณี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะเป็นทางเข้ามาแห่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ตามคำกล่าวว่า สติ สัพพัตถ ปัตติยา สตินั้นจำต้องมีในที่ทุกกรณี
“แต่ท่านหมายถึงสติที่เพียงพอนะ” หลวงพ่อพุทธทาสว่า
“ไม่ใช่สติธรรมดา ฉะนั้น เราจึงต้องฝึกสติ เช่นสติปัฏฐาน” ...สติปัฏฐานสี่ ตามหลักแห่งอานาปานสติ คืออย่างไร
กายอย่างหนึ่ง เวทนาอย่างหนึ่ง จิตอย่างหนึ่ง ธรรมอย่างหนึ่ง
เราเอากายมาฝึก เพื่อให้รู้เรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวกับกาย เอาสติไปในกาย ท่องเที่ยวไปในกาย ให้รู้จักกายโดยประการทั้งปวง
จะเป็นกายเนื้อ คือเนื้อหนังก็ได้ จะเป็นกายลมคือลมหายใจนั้น ก็ได้ เรียกว่ากายเหมือนกัน
...
พอมีปัญหาในชีวิตประจำวัน เราก็มีความสามารถที่จะใช้ความรู้เรื่องกายและสติ เกี่ยวกับกายนั้นไปแก้ปัญหา มันจะเกิดขึ้นกี่สิบครั้ง ก็ช่างหัวมัน เราสามารถแก้ปัญหาได้
เรื่องที่สอง คือเวทนา เกิดขึ้นในใจ เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เอามาเป็นอารมณ์ฝึกฝนสติและปัญญา ตามแบบกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือรู้เรื่องเวทนาดี มีสติเกี่ยวกับเวทนาดี ใช้ความรู้และสติต่อสู้ป้องกัน ทันเวลา
ปัญหาที่หลงในเวทนาที่น่ารัก หลงเกลียดหลงโกรธในเวทนาที่น่าเกลียดน่าโกรธ หรือกลัวในเวทนาที่น่าเกลียดน่ากลัว ก็ไม่เกิดความรู้สึก รัก เกลียด กลัว ใดๆ
เรื่องที่สาม จิต เอามาเป็นอารมณ์ฝึกฝนทางสติและทางปัญญา จนรู้เรื่องจิตดี ควบคุมจิตได้ รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร บังคับจิตให้พอใจ ให้ยินดี ให้ตั้งมั่น ให้ปล่อยวาง สิ่งที่มาเกาะเกี่ยวจิตได้
อย่าท้อใจไอ้เรื่องนี้มันไวเหมือนสายฟ้าแลบ ขอให้ฝึกจิตอย่างเพียงพอ ก็จะป้องกันหรือสกัดกั้นได้
สุดท้ายธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ทางกาย เวทนา จิต จะเป็นกิเลสก็ดี ความทุกข์ก็ดี ทุกสิ่งที่เกิดกับจิต เอามาเป็นอารมณ์สำหรับปฏิบัติ จนเข้าถึงความจริง
ชีวิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรามีสติปัญญาเพียงพอที่จะสกัดกั้นการไหลของกิเลส การปรุงแต่งของกิเลสได้ถึงที่สุด
อย่างนี้เรียกว่าฝึกจิต ให้รู้ว่า ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิด เราจะไม่โง่ หลงไปตามมัน
อ่านถึงตอนนี้จึงเข้าใจ สติไม่เพียงช่วยให้เอาชีวิตรอดกลับถึงบ้าน แต่ถ้าฝึกสติตามวิธีของพระพุทธเจ้า...สติยังช่วยป้องกันภัยจากความทุกข์ได้
เป็นอันว่า ถ้าหมั่นท่องคาถาเรียกสติ ตามวิธีพระพุทธเจ้า กายก็รอด ใจก็รอด.
กิเลน ประลองเชิง