ผมเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลียนแบบนโยบายรัฐบาลจีน “ปล่อยนํ้าเลี้ยงปลา” มาตั้งแต่ต้นปีเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ตกตํ่าอย่างรุนแรง ด้วยการ “ลดภาษีแบบถ้วนหน้า” เพื่อให้เศรษฐกิจทุกส่วนได้ประโยชน์พร้อมกันหมด เหมือนการ “ปล่อยนํ้าเลี้ยงปลา” ตั้งแต่ประชาชนผู้บริโภค ร้านค้ารายเล็กรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี การคมนาคมขนส่งทุกระบบ ไปจนถึงโรงงานผู้ผลิต พร้อมกับอัดฉีดสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดเล็ก ลดภาระนายจ้าง ลูกจ้าง มาตรการนี้ รัฐบาลจีนทุ่มเงินถึง 2 ล้านล้านหยวน 8.6 ล้านล้านบาท เพื่อลดภาษีแบบถ้วนหน้า ก่อนจะถูก “ไวรัสโควิด-19” ทุบร่วงระนาวและกลายเป็น สึนามิถล่มเศรษฐกิจโลก เมื่อเชื้อไวรัสโควิด–19 แพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก
ผ่านไปสองเดือนกว่า ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตัดสินใจใช้นโยบาย “ปล่อยนํ้าเลี้ยงปลา” ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาและเสนอให้ ครม.อนุมัติในวันพรุ่งนี้ แม้จะปล่อยเพียง “นํ้าก๊อก 1” ก็ยังดีกว่า แจกเงินทิ้งนํ้า อย่างที่แจกมาแล้วหลายครั้ง
วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า ครม.เศรษฐกิจ เริ่มคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจในมุมกว้างกว่าการแจกเงินได้แล้ว แม้จะยังแจกเงินอยู่ แต่การแจกเงินครั้งนี้ครบเครื่องกว่าทุกครั้ง เพราะมีทั้ง การแจกเงิน ไปจนถึง มาตรการภาษี ลดค่านํ้าค่าไฟ ลดภาระประกันสังคม แต่ยังกล้าๆกลัวๆ เลยอาจจะส่งผลไม่เต็มที่ เพราะแรงกระตุ้นยังไม่แรงพอ
...
ในบทความที่ผมเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบาย “ปล่อยนํ้าเลี้ยงปลา” แบบจีน ผมเสนอให้ “ลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 1%” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งรัฐบาลจะเสียรายได้ภาษีเพียง 100,000 ล้านบาทเศษ น้อยกว่าเงินภาษีที่รัฐบาลแจกไปก่อนหน้านี้เสียอีก และให้ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมา เพื่อให้ ชนชั้นกลางผู้เสียภาษีจริง 4 ล้านคนในวันนี้ (จากประชากร 70 ล้านคน) มีเงินใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้คือผู้มีกำลังซื้อจริง
แต่รัฐบาลก็ทำเพียงส่วนเดียว แต่ก็เอาเถอะ ยังดีกว่าคิดได้แค่ “แจกเงินอย่างเดียว” ไปดู “การปล่อยน้ำเลี้ยงปลาก๊อก 1” ที่ ครม.จะอนุมัติกันในวันพรุ่งนี้ดูครับ
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่ามาตรการนี้ครอบคลุม 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิค-19 และ ประชาชนทั่วไป เพื่อแบ่งเบาภาระรายได้และรายจ่าย โดยรัฐบาลจะแจกเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ กลุ่มอาชีพอิสระ รวม 20.8 ล้านคน คนละ 2,000 บาท แจกเดือนละ 1,000 บาท 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 41,050 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.9 ล้านคน กลุ่มอาชีพอิสระ (?) 5.9 ล้านคน เก็บตกอาชีพอิสระ (?) อีก 1 ล้านคน โดยรัฐบาลจะจ่ายผ่าน บัตรเติมเงินสวัสดิการแห่งรัฐ และ ระบบพร้อมเพย์ ใครไม่มีพร้อมเพย์ก็คงอด
การดูแล “ผู้ประกอบการ” จะมี 4 มาตรการ คือ 1.ซอฟต์โลน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารออมสิน จะปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินดอกเบี้ย 0.01% แล้วให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท 2.พักการชำระเงินต้น และผ่อนภาระดอกเบี้ย 3.ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กุมภา-พันธ์ 4.สินเชื่อพิเศษจากกองทุนประกันสังคม ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้
มาตรการด้านภาษีก็มีลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดอกเบี้ยซอฟต์โลนหักลดหย่อนภาษีได้ นายจ้างนำรายจ่ายลูกจ้างไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า เร่งคืนภาษีแวตออนไลน์ภายใน 15 วัน นอกจากนี้ยังมีการ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างลูกจ้าง เหลือร้อยละ 0.1 ของค่าจ้าง 3 เดือน เป็นต้น
แม้จะ แก้ปัญหาไม่ถ้วนหน้า แต่ก็ยังดีกว่าแจกเงินอย่างเดียว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”