ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างทุลักทุเล และผ่านวุฒิสภาอย่างฉลุย เปิดทางให้รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท พยุงเศรษฐกิจที่กำลังร่อแร่ได้ทันเวลา แม้จะล่าช้ามาเกือบ 5 เดือน แต่ก็ยังไม่สายจนเกินไป ที่สำคัญที่สุดคือความรู้ความสามารถของรัฐบาล
ก่อนการประชุมเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระดับแกนนำของพรรคฝ่ายค้านเคยชี้แจงว่า ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมประชุมให้ครบองค์ประชุม เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยราบรื่น แต่ครั้นถึงวันประชุม ฝ่ายค้านกลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม ปล่อยให้รัฐบาลว่ากันฝ่ายเดียว ร่าง พ.ร.บ.จึงผ่านแบบทุลักทุเล
ฝ่ายค้านอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่าการตรากฎหมาย ขัดต่อหลักนิติธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน แต่ร่าง พ.ร.บ.ไม่เป็นโมฆะ เพราะไม่มีประเด็นว่ามีสาระสำคัญขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในวาระที่ 1 โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงให้พิจารณาวาระ 2 และ 3 ใหม่
ศาลเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องใช้กฎหมายฉบับนี้แก้ปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ศาลจึงใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ที่ให้ศาลมีอำนาจ “กำหนดคำบังคับ” ไว้ในคำวินิจฉัยด้วย นั่นก็คือให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ในวาระที่ 2 และ 3 ใหม่ให้ถูกต้อง
การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิจารณาวาระ 2 และ 3 ใหม่ น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุม เพราะไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นวิวาทะระหว่างสองอำนาจ คือนิติบัญญัติกับตุลาการ ฝ่ายค้านมองว่าศาลวินิจฉัยเกินอำนาจ ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ ประธานรัฐสภาเตือนว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กร
...
เกี่ยวกับกรณีนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 211 บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงาน ของรัฐ” ศาลไม่ได้วินิจฉัยเอง แต่ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องให้วินิจฉัย เป็นคำวินิจฉัย “เป็นเด็ดขาด” ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเปรียบเทียบได้กับคำพิพากษาของศาล ฎีกา ซึ่ง “ถึงที่สุด” และ “เป็นเด็ดขาด” ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่จะต้องยอมรับ เพราะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภา วิธีเดียวที่จะทำให้สภาพอใจได้ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ใหม่ แต่จะแก้ไขได้หรือ?