เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ในวารสาร “การเงินธนาคาร” ด้วยรูปแบบการผลิตใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สูงขึ้น ประกอบด้วย 4 สาขาเศรษฐกิจ ซึ่งจะ เพิ่มจีดีพีได้อีก 4.4 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 24 ของจีดีพี ในอีก 5 ปีข้างหน้า
วันนี้ผมเลยนำรายละเอียดของเศรษฐกิจใหม่ 4 สาขามาเล่าสู่กันฟัง
1.การเกษตรและอาหาร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าจีดีพีเกษตรไทยเติบโตติดลบ การปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ทั้งระบบ จะเพิ่มศักยภาพของจีดีพีเกษตรให้สูงขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท ด้วยการ เพิ่มความหลากหลายของผลผลิตการเกษตร มีระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้วย การวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค (Customer Behavior Analytics) เพื่อให้เกิดความแม่นยำและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดของเหลือทิ้ง (Optimized Wasted Production) ตรวจสอบและติดตามผลผลิตได้แบบเรียลไทม์ ลดการบุกรุกผืนป่า (Forest Management) มีการจัดการพื้นที่เพาะปลูกตามความเหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าปลอดภัย สร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (Product Diversification) มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ให้เป็นที่ยอมรับของสากล
ผลิตภัณฑ์อาหาร ก็มีศักยภาพในการ เพิ่มจีดีพีจาก 600,000 ล้านบาท เป็น 900,000 ล้านบาท โดยยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับแต่ละช่วงวัย สารประกอบมูลค่าสูง (Functional Ingredient) ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมาก
...
2.สุขภาพและการแพทย์ ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและการแพทย์โดยเฉพาะ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์เพียง 40,000 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง บุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ ส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานการแพทย์ จึงขาดศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการสร้างนวัตกรรมยา วัคซีน ยาชีววัตถุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง การวิจัยทางคลินิก และ การให้ความสำคัญกับนโยบายป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ (Preventive Medicine) มากกว่านโยบายด้านการรักษา การขยายบริการทางการแพทย์ไปสู่การแพทย์เฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรม แนวทางดังกล่าวรัฐจะสามารถเพิ่มมูลค่าจีดีพีในหมวดนี้เป็น 90,000 ล้านบาท
3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ มูลค่าจีดีพีสาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ มีมูลค่ารวมกัน 95,000 ล้านบาท แต่สามารถ เพิ่มมูลค่าเป็น 260,000 ล้านบาทได้ เช่น การพัฒนาพลังงานจากของเสียขยะอุตสาหกรรมและครัวเรือน ของเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ในรูปของพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน รวมทั้ง การต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรและของเสียไปเป็นสารประกอบหรือ ผลิตภัณฑ์เคมีและวัสดุชีวภาพที่มีมูลค่าสูง เช่น พลาสติกชีวภาพไฟเบอร์ เภสัชภัณฑ์ เป็นต้น
4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ มีมูลค่าจีดีพี 1 ล้านล้านบาท และมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าสู่เมืองรอง สามารถเพิ่มมูลค่าจีดีพีเป็น 1.4 ล้านล้านบาท เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ นำความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอด 3 สาขาข้างต้น เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว
นี่คือ 4 โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่จะทำให้ จีดีพีไทยเติบโต 4.4 ล้านล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นการ ปฏิรูประบบคิดและการทำงานของรัฐบาล ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ก็ต้อง “ปรับใหญ่ ครม.” เพื่อ โละรัฐมนตรีไม้ประดับทำงานไม่เป็น รัฐมนตรีที่ส่อทุจริตเชิงนโยบาย ล้างออกไปสักครึ่งก็ยังดี รับรองว่า ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่าวันนี้ แน่นอน ไม่เชื่อลองทำดู
“ลม เปลี่ยนทิศ”