ย้อนไปก่อนเดือนตุลาคม 2516 อาจารย์หม่อม คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความลง “สยามรัฐ” ว่า การที่รัฐบาลสั่งจับ 13 นักศึกษาประชาชน ที่เดินแจกใบปลิวต้านเผด็จการ...เหมือนรถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูง สองขบวน วิ่งเข้าหากัน

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม ที่เรียกกันว่าวันมหาวิปโยค คนตาย คนเจ็บนับเป็นร้อย มาถึงจริงๆ

สถานการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้ ผมเห็นฝ่ายค้านก็เร่งความเร็วไปข้างหน้า ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่มีท่าจะผ่อนปรน ผมกำลังเป็นห่วงรถไฟสองขบวนจะชนกันอีก

คิดไม่ตกสุดท้ายฝ่ายค้านต้องการอะไร ฝ่ายรัฐบาลจะตั้งรับจะแตกหักหรือไม่ ทางเลี่ยงทางออกมีอยู่ที่ไหน

ในนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ฉบับเดือนตุลาคม 2562 อาจารย์หมอ ประเวศ วะสี คุยกับผู้อ่าน ในหัวข้อเรื่อง ประเทศไทยเป็นสวรรค์บนดิน สามารถสร้างได้ ถ้ามีสัมมาทิฐิ

การเมืองตอนนี้ ถ้าจะมีเทศน์สักกัณฑ์ เทศน์กัณฑ์นี้ ทุกฝ่ายควรได้ฟัง เผื่อความรุ่มร้อนจะผ่อนเบา

อาจารย์หมอประเวศ เริ่มต้นว่า “ถ้าคนไทยทุกคนมีบ้านอยู่ มีอาหารกิน มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง” นั่นคือสวรรค์บนดิน สวรรค์บนดินสามารถสร้างได้จริงๆ โดยมีความคิดที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฐิ

สัมมาทิฐิที่ 1...พระเจดีย์สร้างจากฐาน ฐานประเทศต้องแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกัน

ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศต้องมีที่ดินพอเพียงเพื่อการอยู่ร่วมกัน ผลิตอาหารกินเองให้อิ่ม เหลือขาย นี่คือพื้นฐาน “ให้ทุกคนมีบ้านอยู่ มีอาหารกิน มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนแข็งแรง”

อันเป็นระบบคุ้มกันจากความโกลาหล ระส่ำระสาย ปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมของโลกที่ควบคุมไม่ได้

...

ถ้าฐานประเทศมีภูมิคุ้มกัน เราจะอยู่รอดปลอดภัย

สัมมาทิฐิที่ 2...การพัฒนาต้องเอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งอย่าไปเชื่อกระแสโลก ที่เอาการแข่งขันเสรีบ้าง เอาลัทธิอุดมการณ์ใดๆบ้าง เอาเทคโนโลยีบ้าง เป็นตัวตั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและความปั่นป่วน

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า

“ใครจะว่าเชยก็ช่างเขา ขอให้เราพออยู่พอกิน และมีไมตรีจิตต่อกัน”

การมีพออยู่พอกินคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีภูมิคุ้มกัน

ใครที่รักพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต้องรำลึกถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่พระราชทานไว้

การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทุกระดับ คือหนทางอันประเสริฐ

สัมมาทิฐิที่ 3...ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบซับซ้อน การใช้อำนาจ เงิน วาทกรรม วิวาทะ หรือความรู้สำเร็จรูป ไม่มีพลังที่จะผ่าความยากไปได้

เครื่องมือที่สำคัญที่สุด คือ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ในสถานการณ์จริง การปฏิบัติในสถานการณ์จริง ถ้าทำให้มาก จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

ความสำเร็จและความสุขประดุจบรรลุนิพพาน และเป็นเครื่องมือสร้างสวรรค์บนดินได้จริงๆ

สัมมาทิฐิในการพัฒนายังมีประการอื่นๆอีก แต่สัมมาทิฐิ 3 ประการที่กล่าวมา เป็นพื้นฐานเพื่อแสดงปัจจัยหลัก 3 ประการแห่งการสร้างประเทศไทยที่มีบูรณภาพและดุลยภาพ เกิดเป็นความปกติสุขและยั่งยืน นั่นคือ

จุดมุ่งหมายประเทศ=การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โครงสร้างการพัฒนา=สร้างฐานของประเทศให้แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันหรือสร้างพระเจดีย์จากฐาน

เครื่องมือดำเนินการ=การเรียนรู้ร่วมกันในสถานการณ์จริง

ถ้ามีความคิดที่ถูกต้อง คนไทยจะสามารถร่วมสร้างประเทศที่น่าอยู่ที่สุด หรือสวรรค์บนดินได้.

กิเลน ประลองเชิง