การรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเดินหน้าต่อไป แม้ กอ.รมน.ภาค 4 จะแจ้งความดำเนินคดี 7 ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และนักวิชาการรวม 12 คน ในข้อหาก่อความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตาม ป.อาญามาตรา 116 ซึ่งเป็นบทบัญญัติครอบจักรวาล สะท้อนถึงความเห็นต่างของแนวความคิดแบบอำนาจนิยมกับเสรี นิยมประชาธิปไตย
มติครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทน ราษฎร ก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา จะร่วมกันตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลเสนอว่า กมธ.ไม่ควรเกิน 39 คน ไม่ควรแก้ไขหลายประเด็น แต่แก้ไขแค่ประเด็นหลัก แต่ในเวทีเสวนาของพรรคฝ่ายค้านที่ฉะเชิงเทราเสนอแก้ไข เกินครึ่งฉบับ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทุกฝ่ายยอมรับว่ายากที่สุด และอาจแก้ไขไม่ได้เลย เพราะฝ่ายหนึ่งต้องการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจสุดซอย เพื่อให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า จะไม่แตะต้องหมวด 1 กับหมวด 2 หมวด 1 เป็นบททั่วไป เช่น รูปแบบของรัฐ หมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์
ในเวทีเสวนาที่ฉะเชิงเทรา เมื่อปลายเดือนกันยายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญหลายฉบับถูกฉีกทิ้ง ล่าสุดมีการร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ พยายามกำจัดพรรคฝ่ายตรงข้าม และครอบงำองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหาถึง 150 มาตรา
แสดงว่าอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินครึ่งหนึ่ง รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับ 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง นายจาตุรนต์เห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจ แต่มี ส.ว.คนหนึ่งเตือนว่า การแก้ไข รัฐธรรมนูญให้สำเร็จต้องเกิดจากความเห็นพ้องของทุกฝ่าย รวมทั้งต้องมีมติมหาชนในบางเรื่อง
จากความเห็นดังกล่าว ทำให้รู้ว่า นอกจากจะห้ามแตะต้องหมวด 1 กับ หมวด 2 แล้ว ยังห้ามแตะต้อง ส.ว.ด้วย เพราะการแก้ไขจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง มิฉะนั้นพังทันที และประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ฝ่ายค้านต้องการแก้ไข คือที่มาและอำนาจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล
...
ทุกฝ่ายยอมรับได้ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ที่ให้มี ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่ที่เป็นปัญหาคือ ส.ว.ตามบทเฉพาะ กาลมาตรา 269 มี 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช.และมีสิทธิ์เลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 2 สมัย แต่ไม่ยอมรับว่าสืบทอดอำนาจ.