การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทางเป็นไปได้ ถ้าพรรคพลังประชารัฐเอาด้วยตามที่เป็นข่าว หรืออาจมีการหารือกัน ระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท่านหนึ่งชี้แจงผ่าน “ทีมการเมืองไทยรัฐ” ว่า เหตุที่เขียนรัฐธรรมนูญให้แก้ยาก เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน
หมายความว่าหากจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่างๆ กรธ.อมร วานิชวิวัฒน์ เชื่อว่ากลไกรัฐธรรมนูญผ่าทางตันได้ทุกเรื่อง และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีเจตนามุ่งทำลาย หรือส่งเสริมใครเป็นพิเศษ แสดงว่าแม้แต่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เชื่อว่าออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.
ส่วนความหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้แต่ ส.ว.ที่ทุกฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะขัดขวางการแก้ไข แต่มีคำชี้แจงจาก พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ถ้าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน ส.ว.จะสนับสนุน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการออกเสียงประชามติ การแก้ไขก็จะต้องถามประชาชนผ่านประชามติ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกลายเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทราบว่าจะแก้ไขวิธีการแก้ไข ปลดล็อกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น การแก้ไขประเด็นนี้รัฐธรรมนูญบังคับว่าจะต้อง “จัดให้มีการออกเสียงประชามติ” เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชน จึงจะเดินหน้าต่อได้
จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในทุกขั้นตอนของการแก้ไข เริ่มตั้งแต่ร่วมลงประชามติ เพื่ออนุญาตให้แก้ไข อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีการ “เกลือจิ้มเกลือ” จากนั้นก็ต้องให้ประชาชนร่วมรณรงค์ เพื่อแสดงความคิดเห็น ก่อนการลงประชามติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แก้ไขเสร็จอาจต้องลงประชามติอีกครั้ง
...
แต่ปัญหาก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า ปัญหาทุกอย่างไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ แต่ตนไม่ขัดขวางการแก้ไข แต่ไม่เห็นด้วยในการรณรงค์กับประชาชน เท่ากับว่าขัดขวางการแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญบังคับว่าการแก้ไขมาตรา 256 ต้อง “ออกเสียงประชามติ” ก่อน ซึ่งต้องมีการรณรงค์
จะต้องไม่ให้ซ้ำรอยกับการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ปิดปากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่ให้รณรงค์ด้วยถ้อยคำที่ก้าวร้าว รุนแรง หรือปลุกระดม แต่เจ้าหน้าที่รัฐโฆษณาได้ ถ้าห้ามรณรงค์การออกเสียงประชามติคราวนี้ รัฐบาลจะถูกกล่าวหา จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดเสรีภาพในการพูด และการแสดงความเห็นของประชาชน.