ในวันทำบุญครบรอบ 73 ปี ของการก่อตั้งพรรค พรรคประชาธิปัตย์เถียงกันยังไม่จบ ในประเด็นที่ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค ระบุว่า นายถาวร เสนเนียม เป็นคนออกข่าวว่า ส.ส.ส่วนใหญ่สนับสนุน ทั้งที่เคยขอร้องให้ฟังมติคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน แต่ก็ไม่ฟัง อาจจะเป็นความอยากเป็นมาก

นายชวนยอมรับว่าทุกคนอึดอัดใจ ที่มีประกาศออกไปก่อน และเตือนว่าเป็นฝ่ายค้าน อย่าประเมินว่าไม่ดี ทุกคนอยากเป็นรัฐบาล แต่เมื่อได้คะแนนเสียงเท่านี้ แสดงว่ามองทะลุ ปรุโปร่ง ว่าคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่แกนนำรัฐบาล ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นแค่ตัวประกอบที่มีอำนาจการต่อรองไม่มาก ต้องฟังเสียงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. และเสียงพรรคแกนนำ

แต่นายถาวรมองว่า ถ้าไม่ร่วมรัฐบาล พปชร. คนจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เอียงข้างระบอบทักษิณ การเข้าร่วม พปชร.ไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่ง แต่ให้ความสำคัญกับนโยบาย “สร้างคน-สร้างชาติ” ต้องการให้ชาติอยู่รอด ให้ตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ไม่เกินปี ก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นักลงทุนไม่อยากมาลงทุน คนก็จะด่าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อไปคนก็จะไม่เลือก

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เคยให้สัมภาษณ์สื่อ ในทำนองว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป “ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ” เพราะเข้ามาตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงเรียกการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของระดับผู้นำคณะรัฐประหาร รสช.เมื่อปี 2534 ว่า “การสืบทอดอำนาจ” และนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านพฤษภาทมิฬ

การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของผู้นำ รสช. และหัวหน้า คสช. แทบจะไม่ต่างกันเลย เพราะต่างใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเองเป็นกลไก รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาลให้อำนาจหัวหน้า คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. และ คสช. กลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภาเลือกนายกฯกี่หนก็ต้องชนะ วิธีเลือกตั้งที่ยังทำให้พรรคเดินเข้าสภาถึง 27 พรรค พรรคใหญ่สุดมี 137 ที่นั่ง

...

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์การ เมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นได้ว่ามักจะ รุ่งในช่วงที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบ การใช้อำนาจของรัฐบาล เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ประทับใจประชาชน โดยเฉพาะการอภิปรายปัญหาโครงการทุจริตต่างๆ รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวที่นำไปสู่การดำเนินคดี ทำให้นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจติดคุกระนาว และนำไปสู่การล้มรัฐบาล

ในอดีต คนทั่วไปมองพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภา และต่อต้านเผด็จการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ยังยืนยันว่า ปชป. เป็นพรรคที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในบางครั้งทำให้ประชาชนบางส่วนสงสัย เช่น การตั้งกลุ่ม กปปส. ปลุกระดมมวลชน ชุมนุมปิด กทม. และนำไปสู่รัฐประหาร ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง น่าจะทำให้เสียคะแนนไปส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้แพ้ยับเยิน.