ก่อนเลือกตั้ง คนไทยแตกแยกถึงขั้นรบราฆ่าฟันกันบนท้องถนน หลังเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังแตกแยกหนัก ไม่รู้จะลงเอยอย่างไร วันนี้ผมขอพาท่านผู้อ่านไปฟังข้อคิดเห็นของ คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯที่มาจากการปฏิวัติประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่ตอนหลังก็ถูกปฏิวัติฉีกทิ้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และกำลังเกิดความแตกแยกระลอกใหม่

เป็นบทสัมภาษณ์ คุณอานันท์ ปันยารชุน ในหนังสือ Optimise ของ ธนาคารเกียรตินาคิน ฉบับมกราคม 2018 ผมขอนำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังเพื่อร่วมกันหาทางออก

คุณอานันท์ ได้พูดถึง นายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล เคยพูดไว้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” และกล่าวว่า ประชาธิปไตยมีอยู่ด้วยกัน 7 เสา การเลือกตั้งเป็นเพียงเสาเดียว อีก 6 เสา เป็นเรื่องของ ขันติธรรมทางการเมืองการปกครองโดยหลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชน ความโปร่งใสการกระจายอำนาจ และ ภาคประชาสังคม แต่ละสังคมก็มีเส้นทางวิวัฒนาการในเรื่องเหล่านี้ของตัวเอง

คุณอานันท์ บอกว่า การสร้างประชาธิปไตยต้องมี “The art of the possible ศิลปะแห่งความเป็นไปได้” รวมอยู่ด้วย ทุกประเทศต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ปัญหาคือ 80 ปีของเราไม่ค่อยมีการเปลี่ยนผ่าน 80 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย เขามีหลักการคือ เราออกความเห็นได้ แต่ต้องมีข้อจำกัด การพูดการเขียนแบบ hate speech หรือเสรีภาพแบบอเมริกา ขอประทานโทษนะ สังคมจะล่มจมในที่สุด เพราะมีเสรีภาพมากเกินไป ไม่มีขอบเขต ไม่มีความรับผิดชอบ

“ผมคิดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ทนต่อความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นสังคมที่ไม่ค่อยอยากฟังความเห็นที่แตกต่าง และก็ ไม่พร้อมที่จะคุยกันในเรื่องความแตกต่างทางความเห็น ทุกสิ่งอย่างจะเป็นขาวเป็นดำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก มีฉันกับเขา มันไม่ทำให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยแบบติดต่อ คุยแบบต่อเนื่อง คุยให้เป็น dialogue เรียกได้ว่า เรามีแต่ conversation เรามีแต่ debate มีแต่การเถียงกัน เพื่อเอาชนะ

...

ผมไม่แน่ใจคำว่า dialogue มีในภาษาไทยหรือเปล่า คือ dialogue อาจจะมีข้อยุติหรือไม่ต้องมีข้อยุติก็ได้ มันเป็น on-going process เป็นกระบวนการต่อเนื่อง มันไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่มันมีขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ก่อให้เกิดความรู้ที่ดีขึ้น ถามว่า เราสนใจความจริงแค่ไหน เราสนใจตรรกะมากน้อยแค่ไหน เราสนใจความรู้สึกของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเผื่อสุดท้าย ทุกอย่างมันยังหยุดอยู่ที่ l, me and myself มันก็ลำบาก หลักพุทธศาสนาดีที่สุด สุ จิ ปุ ลิ “สุตะ” คือ ให้ฟังก่อน แต่สังคมเรามีแต่คนพูด คนฟังไม่ค่อยมี คนฟังที่รู้เรื่องก็ไม่ค่อยมี”

คุณอานันท์ บอกว่า เวลาเจอคนคิดต่าง เขาอยากจะคุยด้วย ไม่ได้เพื่อโน้มน้าว แต่อยากรู้ว่าเขาเห็นต่างเพราะเหตุผลอะไร ใช้ตรรกะอะไร บางครั้งบางคราว ข้อเท็จจริงอาจจะตรงกัน แต่ข้อสรุปไปคนละเรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเคยอยู่ กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเจรจาค่อนข้างมาก ก่อนเจรจาเราต้องพยายามรู้จุดยืนของแต่ละฝ่าย ต้องรู้ว่าทำไมเขาต้องมีจุดยืนตรงนั้น จุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่ไหน

เป็นประสบการณ์ 45 ปีจาก คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯที่มาจากการปฏิวัติ อดีตประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยที่สุด ผมหวังทุกฝ่ายจะช่วยกันสร้าง dialogue ขึ้นมาพูดคุยกัน แทนที่จะสร้างวาทกรรมที่เป็น hate speech ใส่กัน เพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นจากความขัดแย้งเสียที.

“ลม เปลี่ยนทิศ”