กลายเป็นข่าวที่ค่อนข้างฮือฮา เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ชัดๆเลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ หมดเวลาเกรงใจกันแล้วครับ”

ถ้าผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ ประกาศไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช.ให้สืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แม้แต่การที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยประกาศก่อนหน้านี้ จะไม่สนับสนุนผู้ที่ไม่ใช่ ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นแค่ข่าวเล็กๆ แต่คำประกาศของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์หลีกเลี่ยงคำถาม ไม่บอกตรงๆว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านการสืบอำนาจ คสช. ต่างจากจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ที่ประกาศยึดมั่นในประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ ทำให้ชนะเลือกตั้งและครองใจชาว กทม.หลายสมัย เว้นแต่ในบางยุคที่แพ้พรรคใหม่ๆ เช่น พรรคประชากรไทย และพรรคไทยรักไทย ที่ใช้นโยบายประชานิยม

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่าอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์มักจะมีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 3 รองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่มีหลายครั้งที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แซงขึ้นมา แต่โพลบางสำนักพบว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจชนะเลือกตั้งใน กทม. 22 เขต พรรคเพื่อไทย 8 เขต

พรรคเพื่อไทยกับพันธมิตรประกาศว่า เลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช. ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่าเป็นทางเลือกที่ 3 แต่ไม่ได้ทำให้คะแนนนิยมพุ่ง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมทั้งเปลี่ยนคำขวัญใหม่เป็น “เลือกประชาธิปัตย์ ตัดวงจรอุบาทว์เผด็จการ”

...

คำขวัญเดิมในการหาเสียง คือ “ประชาธิปไตย ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” บอกเป็นนัยๆว่าจะไม่จับมือร่วมรัฐบาล กับพรรคที่เคยโดนคดีทุจริต แต่คำขวัญนี้อาจไม่โดนใจคนส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญประเด็นความสุจริต น้อยกว่าประเด็น “ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ” จึงต้องประกาศจุดยืนที่ชัดเจนในโค้งสุดท้ายของการหาเสียง มาช้าดีกว่าไม่มา

การประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์อาจได้รับคะแนนนิยมจากกลุ่มประชาธิปไตยมากขึ้น หาพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลง่ายขึ้น แม้แต่พรรคภูมิใจไทยที่ไม่เคยเน้นเรื่องการเมือง ก็ยังไม่เอา “คนนอก” ที่ไม่ใช่ ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันหลักการให้พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่บงการโดย ส.ว. แต่งตั้ง.