เหตุที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ากระทำการที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักใฝ่ทางการเมือง คนทั่วไปรู้ได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล เข้าข่ายกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
การยุบพรรคครั้งประวัติศาสตร์นี้ ต้องถือเป็นบทเรียนของพรรคและนักการเมืองทั้งหลาย จะต้องศึกษาให้เข้าใจแก่นแท้ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก ประเทศไทยเพิ่งจะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการยุบพรรคเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยระบุเหตุผลการยุบพรรคอย่างหนึ่งคือ การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว มีพรรคการเมืองถูกยุบไปหลายพรรค เช่น พรรคไทยรักไทย และพรรคชาติไทย แต่ไม่ใช่ความผิดฐานกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการบริหารพรรค ก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน บัญญัติสาเหตุที่ทำให้พรรคอาจโดนยุบ ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ กระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ นอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ และกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และความผิดอื่นๆอีก เช่น ยินยอมให้คนนอกครอบงำพรรค
อะไรคือการเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะอาจตีความได้มากมายแบบครอบ จักรวาล แต่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือการได้มาซึ่งอำนาจนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ อาจจะเข้าใจได้ง่าย เช่นการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร ซึ่งพรรคการเมืองทั่วไปไม่มีความสามารถจะทำได้ รัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายสิบครั้ง ล้วนแต่เป็นการกระทำของกองทัพ
...
การยึดอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้ที่ยึดอำนาจไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฏ ส่วนการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ นอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ พรรค การเมืองอาจทำได้โดยใช้เล่ห์กลทางการเมือง เช่นช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ แม้จะทำไม่สำเร็จก็อาจเข้าข่ายความผิด
มีตัวอย่างของจริงที่โต้เถียงกันอยู่ในขณะนี้ กรณี คสช.แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และมีสิทธิเลือกผู้นำ คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสืบทอดอำนาจได้ ฝ่ายผู้สนับสนุนอ้างว่าไม่ผิด เพราะทำตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างเถียงว่าอาจเป็นการทำตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจ โดยถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่.
อ่านข่าวล่าสุด เจาะลึกข้อมูลเลือกตั้ง 2562