น่าชื่นชมยินดี ที่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงบประมาณและการปฏิรูปกองทัพอย่างกว้างขวาง หลังจากที่พรรคการเมืองเปิดประเด็นขึ้นมา แม้แต่โฆษกกระทรวงกลาโหมก็เข้าร่วมวงอภิปราย โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมาพูดถึงงบประมาณทหารแค่มุมเดียว ไม่ได้เปรียบเทียบกับงบประมาณภาพรวมของประเทศที่โตขึ้น งบกองทัพก็โตขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ไม่มีนัยแอบแฝงใด

ที่ผ่านๆ มามักไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงบประมาณ แม้แต่ในรัฐสภามีการเสนอของบประมาณการทหารโดยรวม แต่ไม่ได้แสดงรายละเอียด นำงบประมาณไปใช้ในด้านใดบ้าง โดยอ้างว่าเป็นความลับหรือความมั่นคง ยิ่งในยุครัฐบาล คสช. แม้จะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้อนุมัติงบประมาณ ยิ่งถูกมองเป็นสภาตรายางไม่ตรวจสอบกันอย่างจริงจัง

งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ประชาชนทั่วไปรับรู้ มีเพียงแต่ว่าปีงบประมาณ 2557 จำนวน 13,819 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 192,949 ล้านบาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 206,461 ล้านบาท ปี 2560 ได้รับ 213,544 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 218,503 ล้านบาท และปี 2562 คือปีปัจจุบันเพิ่มเป็น 227,126 ล้านบาท แต่ไม่ทราบว่านำไปใช้จ่ายด้านใดบ้าง

ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ มีหลายพรรคเสนอให้ตัดงบกองทัพ เพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ตามด้วยข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ แต่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยืนยันว่าการปฏิรูปกองทัพไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน อย่าเอากองทัพมาเป็นประเด็นการเมือง เพราะกองทัพไม่ได้เกี่ยวข้อง กองทัพดูแลความมั่นคง

เลขาธิการพรรค พปชร. ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการสนับสนุนหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปยืนยันว่า รัฐประหารทุกครั้งเกิดจากนักการเมือง ไม่ได้เกิดจากกองทัพ การบอกให้แก้ที่กองทัพเพื่อป้องกันรัฐประหาร ไม่ใช่การแก้ที่สาเหตุของปัญหา อยากให้นายสนธิรัตน์กลับไปทบทวนรัฐประหาร 33 ครั้งที่ผ่านมา ไม่สำเร็จ 23 ครั้ง สำเร็จ 12 ครั้ง มีสาเหตุจากอะไร

...

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านการทหาร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ “เสนาธิปไตย” บางตอนความว่า การพัฒนาการเมืองที่ปราศจากการพัฒนากองทัพ คือการทำลายหลักประกันในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด “ทหารการเมือง” เสี่ยงต่อรัฐประหาร และรัฐประหารคือการทำลายทหารอาชีพที่รวดเร็วที่สุด

จึงต้องปฏิรูปกองทัพให้เป็น “ทหารอาชีพ” และปลูกฝังกรอบความคิดเรื่อง “การควบคุมโดยพลเรือน” เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไป ขอแต่เพียงให้ทุกฝ่ายเปิดกว้าง พร้อมรับฟังความเห็นต่าง และน่ายินดีที่โฆษกกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า กองทัพเป็นของประชาชน เคารพการตัดสินใจของประชาชน ในวิถีทางประชาธิปไตย นั่นก็คือการเลือกตั้ง.