เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ ผลการสำรวจความเห็นคนไทยทั่วประเทศของสถาบันพระปกเกล้า ที่พบว่าคนส่วนใหญ่ (53.5%) ไม่ค่อยเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่นเลยว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คนกรุงเทพฯไม่เชื่อมั่นถึง 64.7% รองลงไปได้แก่ชาวอีสาน แต่ที่น่าดีใจก็คือ มีคนถึง 86.8% ยืนยันว่าจะออกไปใช้สิทธิอย่างแน่นอน
เหตุที่ไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะสุจริตและเที่ยงธรรมมีมากมายหลายเหตุ จากการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านๆมา จะเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคเกิดใหม่ ให้โตเร็วแบบก้าวกระโดดและให้ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างรวดเร็ว ด้วยทุ่มงบประมาณแจกจ่ายประชาชนแบบดาวกระจาย
แม้แต่ชื่อ “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นชื่อที่พ้องกับโครงการหรือนโยบาย “ประชารัฐ” การที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณประชานิยม แจกจ่ายให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มข้าราชการบำนาญ กลุ่มผู้สูงอายุและอื่นๆ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นงบโครงการประชารัฐ
พรรค พปชร. กลายเป็น “พรรครัฐบาล” มาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการตามปกติ แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามรัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงเลือกตั้ง ไม่ให้อนุมัติงบประมาณที่ผูกพันถึงรัฐบาลใหม่ ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และห้ามใช้ทรัพยากรรัฐ เช่น เงินแผ่นดิน เอื้อการเลือกตั้ง
ยิ่งกว่านั้น มีคนเป็นอันมากสงสัยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วงรัฐบาล คสช. มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่มากน้อยแค่ไหน ถูกการเมืองแทรกแซงหรือไม่ เพราะมีหลายครั้งที่ คสช.ออกคำสั่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่นสั่งให้ กกต.เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง และเลื่อนเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ทั้งที่เป็นอำนาจ กกต.
...
คสช.เคยออกคำสั่งยกเว้นไม่ให้พรรคการเมืองเลือกผู้สมัคร ส.ส.ด้วยการให้สมาชิกออกเสียง เปลี่ยนมาเป็นให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกร่วมกันสรรหาผู้สมัคร ขณะนี้ไม่มีพรรคใดพูดถึงไพรมารีอีกต่อไป หลายพรรคอ้างว่าเลือกผู้สมัคร ส.ส.ครบ 350 เขตแล้ว ไม่ทราบว่าแอบทำตั้งแต่เมื่อใด
การเลือกตั้ง 2562 เป็นครั้งสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย หลังจากว่างเว้นเลือกตั้งมาหลายปี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นปีที่รัฐบาล คสช.คืนอำนาจให้แก่ประชาชนไทย หลังจากยึดไว้เกือบ 5 ปี แต่ถ้าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมตามที่คนไทยส่วนใหญ่แสดงความเห็นผ่านโพล จะเป็นที่ยอมรับของคนไทยและประชาคมโลกหรือไม่ และจะนำไปสู่อะไร?