ในหนังสือสามัคคีเสวก พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภาพวาดเทวดาร่างกายเป็นคน แต่มีศีรษะเป็นวัว ยกพระอิศวรและพระอุมาไว้บนมือแต่ละข้าง ชื่อ พระนนที หรือพระนนทิ

(สืบตำนาน สานประวัติ ว.วินิจฉัยกุล สำนักพิมพ์ทรีบีส์ พ.ศ.2553)

อีกชื่อพระนนที คือนนทิการ ชื่อนี้มาจากวรรณคดีอินเดีย คนไทยพอรู้จัก คือโคศุภราชพาหนะของพระอิศวร ยามเสด็จไปไหนมาไหน บางครั้งก็จะมีพระอุมาเสด็จไปด้วย

โดยปกติเมื่ออยู่บนสวรรค์ พระนนทิการจะมีร่างเป็นเทวดา เวลาเป็นพาหนะจึงจะเปลี่ยนร่างเป็นวัว

เพราะความนับถือวัวพระอิศวรนี่เอง วัวในอินเดีย ในหมู่ชาวฮินดูจึงถูกดูแลอย่างดี ไม่มีใครกล้าใช้งาน ไม่มีใครฆ่าเอาเนื้อมาเป็นอาหาร

ว.วินิจฉัยกุล เล่าเรื่องเรือนพระนนทิการ มีภาพเรือนหลังงามให้ดู แล้วย้อนถามแฟนละครช่อง 3 ช่อง 7 คงจะคุ้นตาอยู่บ้าง เคยเป็นฉากหลังในละครดังหลังข่าวมาแล้วหลายเรื่อง

เรือนพระนนทิการของจริงอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด ย้อนยุคไปในสมัยเริ่มสร้าง ในรัชกาลที่ 6

เป็นเรือนพักของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ล.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาพระราชวังสนามจันทร์

พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามของเรือนข้าราชบริพารแต่ละหลัง ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าของเรือน

เรือนพระนนทิการปรากฏที่มาอยู่ในพระราชนิพนธ์ สามัคคีเสวก ซึ่งเป็นบทเสภาแสดงระบำในคืนที่เจ้าพระยาธรรมาฯ เป็นเวรจัดการแสดง

บทเสภา พรรณนาเรื่องราวพระนนทิการไว้ ดังต่อไปนี้

จะจำเดิมเรื่องพระนนที ผู้เสวีพระอิศวรนาถา แสดงซึ่งกิจการนานา อันเป็นหน้าที่ประจำพระนนที หนึ่งเป็นพาหนะพระตรีเนตร แสนวิเศษสุดกระชับทั้งขับขี่ เขจรร่อนไปในเมฆี เร็วประหนึ่งสกุณีชำนาญบิน...

...

ยามอิศวรประศาสน์ราชกิจ นนทีสถิตฟังอยู่ตามที่ เผื่อทรงใช้จะไปด้วยทันที บ่ให้มีบกพร่องทำนองการ ยามเสร็จราชกิจบพิตรว่าง ประสงค์ทางผ่อนฤทัยให้สุขศานต์ พระนนทีเต็มจิตและช่วยงาน เพื่อสำราญเทวาเวลาควร

อ่านต่อๆไปก็ยิ่งเข้าใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชมเชยพระนนที

กิจของเจ้าล้วนเอาเป็นกิจตัว มิได้มัวเกี่ยงกันปันเป็นส่วน เป็นเสวีที่สนิทชิดทั้งมวล ซึ่งจะควรนับได้เป็นคนดี ในระบำสำแดงซึ่งกิจการ เพื่อเป็นฐานแบบอย่างทางวิถี ผู้ประสงค์จำนงเป็นเสวกดี ควรดูเยี่ยงนนทีที่พึงปอง

ว.วินิจฉัยกุลอธิบาย จะเห็นได้ว่า หน้าที่และคุณสมบัติของพระนนทีก็คือหน้าที่ของกรมวัง หรือเสนาบดีวัง คือ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ที่รับเสด็จส่งเสด็จ และคอยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความขยันขันแข็ง

รับผิดชอบดูแลทุกสิ่งทุกอย่างในวังให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เรือนพักเจ้าพระยาธรรมาฯ เสนาบดีวัง จึงได้ชื่อว่า เรือนพระนนทิการ ด้วยประการฉะนี้

มีคนบอกผมว่า คนเจเนอเรชัน Y อายุระหว่าง 25-40 ปี กำลังเห่อนักการเมืองหนุ่มๆเชื่อว่าเป็นทางเลือกใหม่ อยากเลือกเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเก่า

คนรุ่นนี้หลายคนที่ผมรู้จักไม่ค่อยเรื่องเจ้าเรื่องนายสมัยก่อนสักเท่าไหร่ ผมเจอเรื่องเรือนพระนนทิการก็ชอบใจ จึงขอเอามาเล่าต่อ

หลายสิ่งของสังคมเก่ายังงดงามและทรงคุณค่า ควรจะรักและถนอมรักษาเอาไว้ สิ่งใหม่ใช่ว่าจะดีจะงามเสียทุกอย่าง บางอย่างที่กำลังเห่อๆกัน ซ่อนมหาภัยไว้เพียงแต่ยังไม่รู้.

กิเลน ประลองเชิง