เป็นข่าวที่ทำให้ชาวพุทธตกตะลึง และสั่นสะเทือนวงการคณะสงฆ์อย่างรุนแรง เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กล่าวหาพระระดับกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) 3 รูป เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดในกรุงเทพฯ ทำให้รัฐเสียหาย 70 ล้านบาท
เป็นคดีการทุจริตเงินทอนวัดรอบที่ 3 ภาคพิสดาร ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคดีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงการผ้าเหลืองที่ร้ายแรงที่สุดใน 56 ปี นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เป็นต้นมา นอกจากกรรมการ มส.3 รูป ซึ่งมีสมณศักดิ์ชั้นพรหมแล้ว ยังมีพระราชาคณะอีก 2 รูป และมีอีก 7 วัด ที่รอข้อมูลเพิ่มเติมจาก พศ.
ข้อกล่าวหาคือการทุจริตเงินอุดหนุน การศึกษาพระปริยัติธรรมของวัด เป็นความผิดทางอาญา หากถือว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย อาจต้องโทษหนักถึงตลอดชีวิต และยังเป็นความผิดวินัยสงฆ์ร้ายแรง เข้าข่ายอาบัติปาราชิก ในข้อลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ ต้องพ้นจากความเป็นพระ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของมหากาพย์การโกง
เป็นเรื่องที่สะเทือนใจของบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวไทย และมีคำถามว่าคณะสงฆ์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร บางคนชี้ว่าเนื่องจากกฎหมายคณะสงฆ์ ให้เจ้าอาวาสมีอำนาจสูงสุดในการจัดการทรัพย์สินของวัด ไวยาวัจกรก็เป็นคนของเจ้าอาวาส แต่บางคนชี้ว่าต้นตอของปัญหา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ความโลภโกรธหลง มัวเมาในลาภสักการะและสมณศักดิ์ หรือขุนนางพระ
คดีทุจริตเงินทอนวัดรอบ 3 หรือรอบใหม่นี้ เปิดเผยชื่อแค่ 3 วัดดัง ใน กทม. อันได้แก่ วัดสามพระยา วัดสัมพันธวงศ์ และวัดสระเกศ ยังมีอีก 7 วัด ที่รอข้อมูลเพิ่มเติมจาก พศ.อยู่ ไม่ทราบว่าจะมีพระภิกษุระดับใดเกี่ยวข้องบ้าง รัฐเสียหายเท่าไหร่ ข้อกล่าวหาทางอาญาถูกส่งให้ ป.ป.ช. แล้ว ส่วนความผิดทางวินัยไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ตรวจสอบและลงโทษ
...
เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 3 รูป เป็นกรรมการ มส. องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม รวมทั้งส่งเสริมการศาสนศึกษา การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ชาวพุทธและชาวโลกปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถ้าผู้สั่งสอนไม่ซื่อสัตย์สุจริตเสียเอง ชาวพุทธจะพึ่งใคร
คดีทุจริตเงินทอนวัดเป็นหลักฐานยืนยันคำกล่าวที่ว่าการทุจริตคอร์รัปชันยังอยู่ในสายเลือดของสังคมไทยไม่เว้นแม้แต่วงการพระสงฆ์ ผู้สอนให้ประชาชนตั้งมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต บทสวดมนต์ของชาวพุทธท่อนหนึ่งมีความว่า “สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ขอยึดพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หากองค์กรปกครองสูงสุดของพระ ไม่อาจเป็นที่พึ่งประชาชนได้ ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้.