เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกเขียนถึงงานมหกรรมศิลปะการแสดง และดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ ในคอลัมน์นี้ แจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบว่า การแสดงชุดแรกเบิกเวทีปีนี้ได้แก่ บัลเลต์จากรัสเซีย ชุด “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม”

พร้อมกับเขียนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องทำนองไหนหนอ? เจ้าฟ้าสยามองค์ใดหนอ? คล้ายๆกับ “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” ละครบรอดเวย์ และภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่เคยโด่งดังเมื่อหลายๆปีก่อนโน้นหรือไม่?

มาทราบจากหนังสือสูจิบัตรเล่มใหญ่ ที่จัดพิมพ์อย่างสวยงาม และบรรยายละเอียดเอาไว้อย่างครบถ้วน ที่คณะผู้จัดส่งมาให้ล่าสุดแล้ว ก็เกิดความรู้สึกเสียดายและความรู้สึกโกรธตัวเองขึ้นมาทันทีทันควัน

เมื่อได้อ่านคำแปลขององก์และฉากต่างๆ ขอบัลเลต์เรื่องนี้จบลง รวมทั้งได้ดูภาพประกอบที่เขาพิมพ์ไว้อย่างสวยสดงดงาม ถึง 5-6 ภาพ

ทำให้ทราบว่าเป็นเรื่องราวของ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในพระพุทธเจ้าหลวง ร.5 หรือพระอนุชาธิราชของในหลวงรัชกาลที่ 6 กับพระชายาชาวรัสเซีย หม่อม คัทริน ณ พิษณุโลก หรือ คัทริน เดสนิตสกี นั่นเอง

ทำไมเราถึงไม่เฉลียวใจ นึกถึงเจ้าฟ้าพระองค์นี้หนอ?เพราะก็ทราบดีว่าพระองค์ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเป็นพระสหายกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ส่งพระองค์ท่านไปศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กแห่งรัสเซีย เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ต่อมาก็ทรงสมรสกับแหม่มคัทริน และเดินทางกลับมาสยามด้วยกัน

ถ้าเฉลียวใจเสียแต่แรกคงจะต้องละทิ้งภารกิจอื่นๆ ไปนั่งดูชมด้วยอย่างแน่นอน เพราะอยากทราบว่าเรื่องราวจะเป็นฉันใด? และทางคณะบัลเลต์ชั้นนำของรัสเซียคณะนี้ (เยกาเตรินเบิร์กโอเปราแอนด์บัลเลต์เธียเตอร์) จะนำเสนอออกมาในรูปแบบใด?

...

ถือว่าเป็นความผิดของตัวผมเองทั้งหมด ที่ไม่เฉลียวใจหรือฉุกคิดว่างั้นเถอะ จะไปโกรธฝ่ายประชาสัมพันธ์ว่าทำไมไม่ค้นหาเบื้องหน้าเบื้องหลังมาเขียนในข่าวเสียหน่อยพอให้รู้ว่าเจ้าฟ้าสยามพระองค์ใด จะทำให้คนไทยอยากดูเรื่องนี้ขึ้นอีกมากก็คงจะไม่ถูกต้อง

เอาละไหนๆก็พลาดไปแล้ว ขออนุญาตเขียนเล่าจากบทบัลเลต์ที่เขาลงตีพิมพ์ไว้ในสูจิบัตรดีกว่า เผื่อจะทำให้ท่านผู้อ่านพลอยรู้สึกเสียดายตามไปด้วย

ฉาก 1 ขององก์ 1 เขาเริ่มขึ้นในพระบรม มหาราชวังอันงดงามของประเทศไทยในงานพระราชทานเลี้ยงต้อนรับจักรพรรดิแห่งรัสเซีย มีการแสดงประจำชาติจากทั้ง 2 ประเทศ และมีการแนะนำพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ไทยต่อแขกผู้มีเกียรติ ว่าจะเสด็จไปทรงศึกษา ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระจักรพรรดินิโคลัส...เจ้าฟ้าชายกำลังจะต้องเสด็จไปไกลบ้านไกลเมือง ไปยังจักรวรรดิรัสเซียที่แสนลึกลับ เจ้าฟ้าชายทรงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯขององค์พระประมุขทั้ง 2 เป็นล้นพ้น

จากนั้นก็เป็นฉาก 2 กล่าวถึงรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย กล่าวถึงเกล็ดหิมะที่ตกขาวโพลนที่เจ้าฟ้าหนุ่มไม่เคยพบเจอ จึงทรงจินตนาการไปต่างๆนานา

ต่อมาก็เป็นฉากเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Page Corps ที่ทรงต้องรับการฝึกอย่างหนัก แต่ก็ต้องเรียนวิชาดนตรีด้วย ไปจนถึงฉากงานเลี้ยง ณ พระราชวังแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และการทรงเต้นรำกับสาวงามจากกลุ่มนางรำที่มาแสดงถวาย ที่ชื่อ แคทยา (คล้าย คัทริน ในชีวิตจริง) และได้กลายเป็นคู่เต้นที่สง่างามที่สุดของงานคืนนั้น

เดินเรื่องต่อไปด้วยบรรยากาศอันงดงามของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กับ 2 หนุ่มสาว ที่เดินทาง ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ และต่อมาก็ถึงฉากหนังสือพิมพ์ลงข่าวสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้น แคทยาต้องไปเป็นพยาบาลและเจ้าฟ้าสยามต้องกลับประเทศ ไม่สามารถตามแคทยาไปได้ เพราะนี่ไม่ใช่สงครามของสยาม พระองค์ไม่มีสิทธิจะเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ พระองค์รู้สึกผิดหวัง

มาถึงองก์ 2 ก็เดินเรื่องต่อจนทั้ง 2 เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรส และการเดินทางกลับประเทศ และเมื่อถึงพระราชวังก็สร้างความตกตะลึงแก่ ราชสำนัก เพราะไม่มีใครทราบมาก่อนว่าเจ้าฟ้าสมรสกับชาวต่างชาติ ทำให้แคทยามิได้รับการต้อนรับ

แต่แคทยาก็มิได้ย่อท้อด้วยพลังแห่งความรัก จึงอดทนในทุกสิ่งจนในที่สุดก็ได้รับพระมหากรุณา ทุกๆคนในราชสำนักต่างชื่นชมแคทยา ซึ่งข้อความในฉากสุดท้ายขององก์ 2 หรือองก์จบบรรยายว่า

“ทุกคนต่างมีความสุข การเต้นรำในฉากสุดท้ายคือสัญลักษณ์ของ 2 สิ่งแตกต่างที่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวจากเหนือสู่ใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก และจากยุโรปสู่เอเชีย เพราะไม่มีอุปสรรคใดๆทั้งระยะทางและเขตแดนที่ขีดขั้นประเทศอีกแล้ว สำหรับรักแท้แล้ว ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ”

บัลเลต์จบลงด้วยฉากงดงามอลังการที่เปี่ยมไปด้วยความสุข แต่ในชีวิตจริงเป็นอย่างไร คงต้อง หาอ่านจากบันทึกที่มีการเขียนไว้หลายแห่งหลายที่ (สะดวกที่สุด คือค้นจากกูเกิล)ซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่า มิได้จบอย่างมีความสุขเช่นนี้

หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ชื่นชมในงานศิลปะการแสดงท่านหนึ่งที่มีโอกาสได้ชมการแสดงชุดนี้ ท่านชมมากว่าแสดงดีเหลือเกิน สวยงามเหลือเกิน เพลงไพเราะ เหลือเกิน และจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ทำให้คนดูแน่นขนัดในรอบปฐมฤกษ์กลับบ้านอย่างอิ่มเอิบ

เป็นที่มาของความเสียดายที่หัวหน้าทีมซอกแซกมิได้ไปร่วมอิ่มเอิบด้วย แต่ก็ยังหวังว่าหากมีการนำมาแสดงอีก ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าจะวิ่งแจ้นไปดูในทันทีมิให้พลาดอีกเลย

ขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยอีกครั้ง ที่เลือกการแสดงชุด “แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม” เป็นชุดแรกใน 4 ชุดของการแสดงบัลเลต์ เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียและไทย ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา.

...

“ซูม”