การถกเถียงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ตามข้อเสนอของนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จับมือกันจัดตั้งร่วมกับผู้นำ คสช. ได้รับการปฏิเสธจากทั้งสองพรรคใหญ่ หรือแม้แต่พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนา แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ก็เมินเฉย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตือนว่า “อย่าคืนเจตนารมณ์ของประชาชน” การคืนความต้องการของคนส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่อันตรายมาก การพูดว่าจะตั้งรัฐบาลแบบนั้นแบบนี้ หลังการเลือกตั้งเหมือนกับไม่ให้เกียรติประชาชน และเสนอให้ ส.ส.รวบรวมเสียงข้างมากเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน

การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยปกติมักจะเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ร้ายแรง เช่นประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่น แต่จะตั้งในภาวะปกติก็ย่อมทำได้ ไม่ผิดกฎหมายหรือกติกา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเรามองในแง่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ด้วย พูดอีกอย่างคือมองทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์

รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้เลือก “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะให้ ส.ว. 250 คนในห้าปีแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช.สิบกว่าคน ส่วนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 50 ล้านคน มีสิทธิเลือก ส.ส.ได้ 500 คน ส.ว.250 คน อาจจับมือกับ ส.ส.บางส่วน เพื่อเลือกคนของ คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ฝืนใจคนส่วนใหญ่หรือไม่?

ผู้มีสิทธิ์ 50 ล้านคน ออกไปใช้ สิทธิเลือกตั้ง โดยมุ่งหวังว่าจะเลือก “คนที่รักพรรคที่ชอบ” เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ตามนโยบายที่สัญญาต่อประชาชน แต่หลังการเลือกตั้งใครก็ไม่รู้เหาะลงมาจากไหนไม่รู้ มานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำรัฐบาลบริหารบ้านเมืองหน้าตาเฉย โดยไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง ผู้เลือกตั้งจะคิดอย่างไร

...

คำกล่าวที่ว่าการออกมาพูด ให้จัดตั้งรัฐบาลแบบนั้นแบบนี้ ให้คนนี้เป็นนั่น เหมือนกับไม่ให้เกียรติประชาชน เป็นเรื่องที่น่าคิด เปรียบเทียบได้กับบางยุคบางสมัย ผู้นำรัฐประหารบอกว่าจะให้บิ๊ก ก.เป็นนายกฯ ถ้าบิ๊ก ก.ไม่เอาจะให้บิ๊ก ข. โดยไม่สนใจบรรดาผู้นำพรรคการเมืองที่ออกไปหาเสียงเลือกตั้งหน้าดำคร่ำเครียดและไม่สนใจประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

เป็นภาพสะท้อนแนวความคิดทางการเมือง ที่มองไม่เห็นประชาชนในสายตาไม่ให้เกียรตินักการเมืองและพรรคการเมือง ที่ลงทุนลงแรงส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลและแก้ปัญหาประชาชนตามสัญญา หวังว่าเรื่องราวลักษณะนี้จะไม่มีในโลกปัจจุบัน ที่รัฐบาลกำลังโหมโฆษณา และสัญญาจะนำประเทศมุ่งสู่ 4.0