เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงถ้อยแถลงของท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับความมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสดมากขึ้นผ่านระบบคิวอาร์โค้ด

พร้อมกับบรรยายความตื่นเต้นยินดีที่เรากำลังจะเดินไปสู่ความทันสมัยแบบนานาอารยประเทศ ซึ่งนิยมใช้เงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลดการใช้เงินสดลงเป็นอย่างมากทั่วโลก

แต่ผมก็ทิ้งท้ายไว้ว่า การใช้เงินสดน้อยลงมีทั้งความน่ายินดีและน่าใจหาย จึงขออนุญาตที่จะเขียนถึงความน่าใจหายเอาไว้ด้วย เพื่อแสดงความรักความอาลัย หากการใช้เงินสดในประเทศไทยเราจะลดลงไปจริงๆ

โดยส่วนตัวแล้วผมยังมีความสุขและมีความมั่นใจที่จะพกเงินสดไว้ในกระเป๋ามากกว่าการใช้บัตรต่างๆ

คิดถึงความสุขตอนเป็นหนุ่มเรียนหนังสือจบใหม่ๆ ไปทำงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นชั้นตรี ได้เงินเดือน 1,050 บาท รับแบบเต็มๆเพราะสมัยนั้นข้าราชการยังไม่ต้องเสียภาษี แบงก์ใหญ่สุดคือแบงก์ร้อย เรารับมา 10 ใบ กับแบงก์ย่อยรวมกันอีก 50 บาท

ยังจำสีแดงเพลิงของธนบัตรใบละร้อย 10 ใบ หยาดเหงื่อครั้งแรกในชีวิตได้จนถึงบัดนี้

ต้องยอมรับว่าอิทธิพลของแบงก์ร้อยใน พ.ศ.2507-2508 นั้น ยิ่งใหญ่จริงๆ มีพกอยู่ในกระเป๋าจะสร้างความอุ่นใจอย่างที่สุด แม้เพียงใบ 2 ใบก็เถอะ ยิ่ง 10 ใบตอนรับเงินเดือนด้วยแล้วยิ่งอบอุ่นมาก

ไม่เพียงแต่ผมจะมีความสุขที่ได้จับแบงก์ร้อย เท่าที่ผมสังเกต คนรุ่นผมส่วนใหญ่ก็ล้วนมีความสุขยามมีแบงก์ร้อยอยู่ในมือทั้งสิ้น

เพื่อนหญิงของผมคนหนึ่งไปแต่งงานกับหมอ ผมเคยแวะไปเยี่ยมตอนใกล้เวลาปิดคลินิก ยังจำใบหน้าที่อิ่มเอิบของเพื่อนได้จนถึงบัดนี้

เธอนั่งนับเงินที่คนไข้จ่ายเป็นค่าตรวจรักษาแก่สามีของเธอกองโตอย่างมีความสุขมากๆ แบ่งออกเป็นแบงก์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะแบงก์ร้อยเธอจะกรีดไปมาบ่อยที่สุด

...

นอกจากเมียหมอจะมีความสุขจากการนั่งนับแบงก์แล้ว เมียตำรวจก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสุขจากการนับแบงก์เช่นกัน จนเกิดคำพังเพยขึ้นว่า “เมียทหารนับขวด เมียตำรวจนับแบงก์” (ในสมัยโน้นนะ แต่สมัยนี้ไม่แน่ เพราะเมียทหารใหญ่ๆก็นับแบงก์เหมือนกัน)

อีกความสุขหนึ่งที่คนรุ่นผมได้รับจาก “เงินสด” ก็คือการ “เล่นไพ่” ในหอพักนั่นเองล่ะครับ

แรกๆเราชอบเล่นรัมมี่ ใช้วิธีจดแต้ม เล่นจนโต้รุ่งแล้วมาคิดเงินว่าใครได้เท่าไร เสียเท่าไร จ่ายกันตอนเลิก...ซึ่งก็มีความสุขดีพอสมควร (รวมทั้งทุกข์ด้วยหากเล่นเสีย) ตอนจ่ายเงิน

แต่พอเราเปลี่ยนมาเล่นไพ่เผ ซึ่งต้องใช้เงินสดเกกันทุกครั้งที่แจกไพ่ทำให้มือเราได้สัมผัสเงินสดเป็นระยะ เราก็รู้สึกว่าเล่นเผสนุกกว่าเยอะ เพราะได้จับเงินอยู่ตลอด และจะมีความสุขมากๆช่วงที่เงินกองโตไหลมากองอยู่หน้าตักเรา

พวกเราก็เลยเลิกเล่นรัมมี่ หันมาเล่นเผเล่นโป๊กเกอร์ หรือแม้แต่เก้าเก หรือถ้าอยู่กันเยอะเป็นวงใหญ่ก็ป๊อกเด้ง ซึ่งไพ่เหล่านี้ต้องจับเงินสดตลอดเวลา จึงให้รสชาติมากกว่าการเล่นรัมมี่ ซึ่งใช้วิธีจดแต้ม

ทุกวันนี้ความสุขในประเด็นนี้ก็ยังคงอยู่กับคนรุ่นผมที่นัดไปสังสรรค์เฮฮาเล่นเผบ้าง เล่นไพ่สามกองหรือโป๊กเกอร์บริดจ์บ้าง เพื่อแก้โรคอัลไซเมอร์ที่ชักจะคุกคามคนรุ่นเราเข้ามาทุกขณะ

ยืนยันได้ว่าการสัมผัสเงินสดโดยเฉพาะแบงก์ใหญ่สุดยุคนี้คือแบงก์ 1,000 บาท นั้นยังให้ความสุขใจในการกรีด การสัมผัส และการนับระหว่างที่กองอยู่หน้าตักได้ไม่แพ้เรากรีดแบงก์ร้อยสีแดงในยุคโน้น

นอกจากนี้ เงินสดก็ยังเหมาะกับสังคมไทยอีกหลายอย่าง เช่นเหมาะกับขึ้นรถเมล์/กินก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวแกงข้างทาง/ทำบุญ หยอดตู้ตามวัดวาอารามทั่วประเทศ/ประดับธงกฐินผ้าป่า ฯลฯ

ผมจึงรู้สึกใจหายถ้าหากการใช้เงินสดจะค่อยๆหายไป

แต่ก็ยังเบาใจที่หากเชื่อตัวเลขว่าเรายังใช้เงินสด 98 เปอร์เซ็นต์ ใช้อย่างอื่น 2 เปอร์เซ็นต์ ก็แสดงว่าอีกนานมากกว่าจะขึ้นมา 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเวลานั้นผมและเพื่อนๆนักนิยมเงินสดรุ่นเดียวกันอาจจะจากประเทศไทย อันเป็นที่รักของเราไปอยู่ภพอื่นเรียบร้อยแล้วก็ได้

สรุป...แม้ผมจะเอาใจช่วยท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติอยากให้โครงการ ลดการใช้เงินสดของท่านประสบความสำเร็จ แต่โดยส่วนตัวผมต้องขอ อนุญาตใช้เงินสดเป็นส่วนใหญ่ต่อไป เพราะดูจะมีความสุขกว่าการเอา โทรศัพท์มือถือไปส่องคิวอาร์โค้ด...มันจืดชืดไร้วิญญาณยังไงก็ไม่รู้ซีแฮะ.

“ซูม”