ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างยอมรับ ว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะมีแรงต่อต้านมหาศาล แม้จะตั้งคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะไม่รู้กี่คณะ รวมทั้งเขียนบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ก็ยังไม่สัมฤทธิผล แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ผู้กุมอำนาจเต็มก็ยังเคยโบ้ยให้รัฐบาลหน้า
แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับไว้ว่าจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ และปฏิบัติหน้าที่มาแล้วกว่า 2 เดือน แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า แค่ยกแรกก็เกิดวิวาทะร้อนแรง เมื่อมีผู้เสนอให้กระจายอำนาจให้ตำรวจจังหวัด และถูกต่อต้านจาก ผบ.ตร.
เหมือนกับอดีตผู้นำตำรวจคนก่อนๆก็เคยต่อต้านข้อเสนอให้แยกงานสอบสวน เป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้อัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ มีอำนาจร่วมสอบสวน ในกรณีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ต้องตัดเรื่องนี้ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ ถามว่าถ้าไม่ปฏิรูปการสอบสวน ไม่กระจายอำนาจ และไม่ปรับโครงสร้าง แล้วจะปฏิรูปอะไร?
รัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าจะต้องปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ “อย่างเหมาะสม” “ให้เสริมสร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่ เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่ง อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน” ปรับปรุงแก้ไขให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจตามระบบคุณธรรมให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ
รัฐธรรมนูญระบุด้วยว่าต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจที่เหมาะสม ตรงกับข้อเสนอของคณะต่างๆ ให้โอนงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ และตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น แต่กลับมีการกระทำที่สวนทาง เช่น ยกฐานะกองบังคับ การตำรวจท่องเที่ยวเป็นกองบัญชาการ
...
นักวิชาการ ผู้ศึกษาและติดตามเรื่องตำรวจมาเป็นเวลานาน ชี้ว่าหลักสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ ได้แก่ ต้องมีการกระจายอำนาจ การตรวจสอบและรับเรื่องราวร้องทุกข์และต้องทำให้องค์กรตำรวจเล็กลง ไม่ใช่มีสถานะเทียบเท่ากองทัพ ซ้ำยังมีกำลังพลและมีนายพล (ประมาณ 500) มากกว่าบางกองทัพ และบังคับบัญชาแบบรวมศูนย์อำนาจ แบบเดียวกับกองทัพ
ภารกิจหลักของตำรวจ คือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือพิทักษ์สันติราษฎร์ และเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ “พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน” การปฏิรูปตำรวจจึงต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการกระจายอำนาจตามหลักประชาธิปไตย.