หนังสือ วรรณคดีอภิธาน คำศัพท์ คำนาม ที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทย (ฉบับปรับปรุง สถาพรบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ส.ค.2560) ผมได้กลิ่นคำเก่า จากคำ ยั่วยานคานหาม สะดุดตรงคำ “ยั่ว” ครับ
อาจารย์ ส.พลายน้อย อธิบายว่า คำ ยั่วยานคานหาม เป็นคำพูดติดปากคนโบราณ เมื่อพูดถึงยานพาหนะ ก็จะพูดรวมให้คล้องจองกันไป คำ คานหาม เป็นคำเรียกพาหนะผู้มีอำนาจวาสนา ไม่ใช่พาหนะของคนธรรมดาทั่วไป
ถือเป็นเครื่องประกอบยศ ลดหลั่นตามฐานะ
ตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ข้าราชการเมื่อได้รับพระราชทานพานทอง จึงจะนั่งแคร่ได้
ถ้าเป็นพระยา หรือพระที่ไม่ได้พานทอง ใช้เปลเป็นยานประจำยศ
พระราชพงศาวดาร กล่าวว่า เมื่อครั้งพระเทียรราชา ปราบดาภิเษก เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชนั้น ได้พระราชทานเครื่องประกอบยศแก่ผู้ร่วมคิด เช่น ให้หมื่นราชเสน่หา เป็นเจ้าพระยามหาเทพ
พระราชทานลูกสนม และเครื่องสูง เครื่องทอง เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว
เสลี่ยงหรือเฉลี่ยง ก็คือคานหาม มีที่สำหรับนั่งอยู่ตรงกลาง ใช้คานหามหน้าหลัง
เรียกเสลี่ยงงา หมายถึงตัวเสลี่ยงที่ใช้นั่งทำด้วยงา เสลี่ยงกลีบบัว น่าจะหมายความว่า สลักเป็นกลีบบัว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จว่า
เสลี่ยงกลีบบัว เคยเห็นเมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) ทำการแรกนา เขาจัดเสลี่ยงกลีบบัวให้ขี่แทนเสลี่ยงแปลงเพื่อยกยศ สังเกตเห็นเป็นอย่างนั่งห้อยเท้า ที่นั่งจำหลักเป็นกลีบบัวอย่างดอกบาน
ในกฎมณเฑียรบาล กำหนดผู้อยู่ในตำแหน่งต่างๆไว้แน่นอนดังนี้
สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ขี่ทิพยานทอง พระอุปราช ขี่ทิพยานนาก พระเจ้าลูกเธอกินเมือง ขี่ยานมาศกลีบบัว พระอัครมเหสี ราชยาน
...
นอกจากนี้ ยังให้ใช้ตามศักดินา...นา 10,000 ในเมือง ขี่ยั่ว (รูปร่างหน้าตาเป็นไง?)
นา 10,000 หัวเมือง ขี่คานหามเก้าอี้ นา 5,000 ขี่ยั่ว (ยั่ว อีกแล้ว) นา 3,000 ขี่ยาน นา 10,000 กินเมือง ขี่คานหามเก้าอี้ ท้าวนั่งเมืองขี่คานหามเก้าอี้ทอง และนา 10,000 กินเมือง ขี่ยั่วยาน
ดูตามศักดินา “ยานแบบ ยั่ว” น่าจะเป็นรูปแบบเฉพาะตัว...ไม่เหมือน แคร่ หรือ คานหาม”
อีกคำ ที่แทรกเข้ามา “วอ” ส.พลายน้อย อธิบายว่า วอเป็นภาษาพม่า หมายถึงยานที่มีหลังคาเป็นรูปเรือน หรือเสลี่ยงที่มีหลังคา แต่เดิมนั้น ไม่ถือเป็นธรรมว่าเป็นของเจ้านายทรง
มีที่มา... เมื่อกรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเอาอย่างแคร่กัญญาขุนนาง มาแก้ไขให้งามขึ้น มีพนักหลังเข้าถักด้วยหวาย หลังคาผ้าขี้ผึ้ง แล้วทรงใช้ก่อนเจ้านายทั้งปวง
สมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งเสด็จอยู่วังนอก ก็ได้ทรงทำพระวอขึ้นทรง พระราชทานนาม วอประเวศวัง
การนั่งคานหามเก้าอี้ทอง หรือเก้าอี้ธรรมดา ถือกันเคร่งครัด ในสมัยรัชกาลที่ 5 นายหลุย ที เลียวโนเวนส์ ลูกชายแหม่มแอนนา ทำการค้าอยู่เชียงใหม่ ล้มป่วยหมอแนะให้นั่งคานหามหนีฝุ่น ถูกจับโทษฐานทำตัวเสมอเจ้า
เจ้าหน้าที่เสนอให้เลือก รับโทษ ตัดหัว กับยอมเสียค่าปรับ นายหลุย เลือกเสียค่าปรับ 10 บาท
เรื่องยั่วยาน คานหาม ตามฐานะ สมัยโบราณ ในวันนี้ก็ใช้กันอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งขุนนางตำแหน่งสูง ก็รถคันใหญ่ราคาแพง ถึงขั้นผู้นำ ก็ต้องใช้กระจกกันกระสุน
อาจารย์ ส.พลายน้อย บอกว่า คำยั่ว วันนี้ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่พวกเรา เปลี่ยนไปใช้ใหม่ เป็น “ยวด” กลายเป็นคำยวดยาน แต่หน้าตา “ยั่ว” หรือ “ยวด” รูปร่างหน้าตาแบบไหน ผมยังหาคำอธิบายไม่เจอ
จะโมเมเหมาเอา...ว่า ยั่วยานคานหาม ความหมายคล้าย ยั่วยวนกวนกาม...ก็ไม่ใช่ เป็นคนละเรื่องกันไปเลย.
กิเลน ประลองเชิง