คดีทายาทกระทิงแดงขับรถชนตำรวจเสียชีวิตที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี ทำให้ 4 ข้อหาขาดอายุความ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน มาก็ขาดอายุความอีก 1 คดี คงเหลือแต่เพียงข้อหาขับรถชนคนตายโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและพนักงานอัยการ ถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ของคดีที่เกี่ยวกับผู้มีฐานะมั่งคั่ง
ไม่แต่เฉพาะคดีที่มีมหาเศรษฐี เป็นผู้ต้องหา คดีที่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลหรือคนมีสี ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร การดำเนินคดีก็มักจะล่าช้า ตัวอย่างเช่นคดี “น้องพลอย” ที่หายไปอย่างลึกลับหลายปี เพิ่งจะเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ ว่าถูกฆ่าเสียชีวิตแล้ว โดยมีอดีตแฟนหนุ่มซึ่งเป็นทหาร และเป็นลูกอดีตนายทหาร เป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญ
อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เช่นเดียวกัน กรณีหญิงสาวเสียชีวิตและเพื่อนชายอ้างว่าผูกคอตาย แต่พ่อแม่ผู้ตายสงสัยว่าจะเป็นการฆาตกรรม มีผู้ต้องสงสัยหลายคน บางคนลูกหลานตำรวจ เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้อง เรียนต่อ สตช. หรือกรณี “ผอ.อ้อย” แห่งศรีสะเกษที่หายตัวก็พุ่งความสงสัยไปที่นายทหารยศร้อยเอก
คดีฆาตกรรมและการหายตัวเหล่านี้ เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คสช.ซึ่งมีกฎหมายหรือคำสั่งให้ทหารมีอำนาจจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหาได้แบบเดียวกับตำรวจ ทำให้ทหารมีอำนาจเหมือน กับตำรวจ บางคนจึงอาจเหลิงอำนาจ และ ใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ดังคำกล่าวของมงแต็สกีเยอ ที่ว่าทุกคนผู้มีอำนาจมักจะลุแก่อำนาจ เป็นเรื่องธรรมดา
เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คสช. ผู้กุมอำนาจเด็ดขาด และ สัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศในทุกด้าน มีรัฐธรรมนูญบังคับให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรยุติธรรม ให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมประชาชน
...
ขณะนี้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม น่าจะเป็นไปอย่างจริงจัง ส่วนที่ง่ายที่สุดคือการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย แต่ส่วนที่ยากที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากระบบอุปถัมภ์การเล่นพรรคเล่นพวก การเลือกปฏิบัติ เพราะความแตกต่างในด้านอำนาจ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสถานะทางสังคม ยังฝังรากลึก
จากคดีต่างๆที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ซึ่งเป็นคดีอาญา เห็นได้ชัดว่า ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ มีปัจจัยที่สำคัญคือการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอัยการ จึงมีเสียงเรียกร้องให้ ปฏิรูปงานสอบสวนรีบด่วน ตามด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร ให้มุ่งผดุงความยุติธรรมประชาชน ซึ่งเป็นการปฏิรูประยะยาว.