เป็นเวลานานกว่าสามปีที่คนไทยไม่ได้เลือกตั้งระดับท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีเพิ่งจะตอบคำถามสื่อมวลชน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีในเวลาที่เหมาะสม พ้นจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนั้น ปีหน้า (2561) จึงค่อยมาคุยกัน ให้เตรียมการเอาไว้ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป

ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจการปกครอง คณะรัฐประหารส่วนใหญ่มักจะถือเป็นประเพณีปฏิบัติคล้ายกัน คือประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ให้เนติบริกรเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาปกครองประเทศชั่วคราว จากนั้นจึงมอบหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญ (ถาวร) ฉบับใหม่ ไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากระดับต้นๆของโลก ประเพณีอีกอย่างหนึ่งคือแช่แข็งการเลือกตั้ง

คสช.ก็ยึดถือประเพณีแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยใช้คำสั่งตาม ม.44 แช่แข็งหรือไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น 7,853 ตำแหน่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการ กทม. สมาชิก อบจ. อบต.และเทศบาล และใช้การ “แต่งตั้ง” ข้าราชการให้ทำหน้าที่แทน นักวิชาการบางคนเรียกว่าการปกครองของ “รัฐราชการ”

การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพื้นฐานของการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า “ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นอาจมาจากการเลือกตั้ง หรือโดยการเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น

มีเสียงขานรับจากนักวิชาการหลายคน เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาล คสช. อาจจะผ่อนคลายให้เลือกตั้งท้องถิ่น จะแสดงให้ประชาคมโลกรู้ว่าไทยเริ่มกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเป็นผลบวกต่อรัฐบาล คสช. แต่บางคนวิเคราะห์ว่า อาจต้องการให้ท้องถิ่นเป็นฐานเลือกตั้งระดับชาติ เพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช. จึงต้องอาศัยเครือข่ายกลุ่มชนชั้นนำของท้องถิ่น

...

การให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์อย่างไรก็ตาม แต่น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศและประชาชนในท้องถิ่นมากกว่า แม้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นโดยเฉพาะระดับล่าง เช่น อบต.จะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เกี่ยวกับซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งกระทำกันอย่างมโหฬารและโจ๋งครึ่ม แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชาชนเรียนรู้ด้วยตนเอง

ดังที่รัฐธรรมนูญระบุว่าการปกครองส่วนท้องถิ่น “คือการปกครองตนเอง” ของประชาชน อปท.ระดับล่างมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก และประชาชนก็รู้ไส้รู้พุงหมด ไม่สามารถหลอกใครได้ เว้นแต่จะเต็มใจให้หลอก แต่ประชาชนจะได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนพัฒนาถึงขั้นที่การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้ง เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร.