โลกในยุคดิจิทัล ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เปลี่ยนรูปแบบจากการสืบค้นในระบบเอกสารเป็นการค้นหาในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และล่าสุดระบบปฏิบัติการแอพพลิเคชั่นได้กลายมาเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น

GREEN BOOK แอพพลิเคชั่นใหม่ล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่พัฒนาจากหนังสือ GREEN BOOK 2017 ซึ่งรวบรวมรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาและผู้ผลิตที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์และคัดเลือกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า มีคุณภาพมาตรฐานมาจัดทำเป็นหนังสือ มาเป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงการจัดซื้อยาตามหลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา เพื่อให้โรงพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องนำมาใช้คัดเลือกยาที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมีราคาเหมาะสมในการบริการผู้ป่วย

...
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินโครงการประกันคุณภาพยามาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบคุณภาพยาแผนปัจจุบันที่มีใช้ในโรงพยาบาลรัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
“โครงการประกันคุณภาพยาเน้นตรวจยาที่มีปริมาณการใช้มาก ยามูลค่าสูง ยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ ยาช่วยชีวิต ยาชนิดเดียวกันแต่ราคาแตกต่างกันมากระหว่างผู้ผลิต ยาที่มีแนวโน้มไม่คงตัว หรือโรงพยาบาลสงสัยในคุณภาพ นำมาตรวจวิเคราะห์และตัดสินตามเกณฑ์มาตรฐานสากล”

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกอีกว่า ผลดำเนินงานภาพรวม ตรวจวิเคราะห์ไปแล้ว 572 รายการ ในจำนวนนี้ 85% เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์กว่า 16,000 ตัวอย่าง จาก 5,633 ทะเบียนตำรับยา
คุณหมอสุขุม บอกว่า การคัดเลือกรายชื่อยาเข้าในระบบ GREEN BOOK จะคัดจาก ยาที่มีผลการวิเคราะห์เข้ามาตรฐานอย่างน้อย 3 รุ่นผลิตต่อทะเบียนยา หรือหากตรวจมากกว่านั้นต้องไม่พบรุ่นผลิตใดเลยที่ผิดมาตรฐานจึงจะได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำเป็นหนังสือ GREEN BOOK รวบรวมรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต จัดพิมพ์เป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ฉบับ

“ผลวิเคราะห์ยาทั้งหมดของโครงการแต่ละปีทั้งที่ผ่านและผิดมาตรฐานจะถูกรวบรวมเป็นฐานข้อมูลคุณภาพยาระดับประเทศ รายงานผลไว้ในหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขได้ทราบ และในส่วนยาที่ผิดมาตรฐานก็จะมีการประสานแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อดำเนินการต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อธิบาย
ทั้งนี้ ตามระบบประกันคุณภาพยาของประเทศในภาพรวม ยาที่ใช้ในโรงพยาบาลเกือบทั้ง หมดมีคุณภาพดี ปัญหายาผิดมาตรฐานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และระยะหลังพบว่ายาผิดมาตรฐานในข้อกำหนดที่ไม่ใช่หัวข้อหลักของผลิตภัณฑ์

...

คุณหมอสุขุมให้ข้อมูลว่าระบบ สืบค้นข้อมูล GREEN BOOK ที่พัฒนาขึ้นนี้ ใช้สำหรับสืบค้นชื่อยาและผู้ผลิตที่มีผลการตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยขั้นตอนการดำเนินงานเริ่มจากสุ่มยาจากโรงพยาบาลในประเทศ ไทย ทั้งยาที่ผลิตในประเทศไทยและยานำเข้า วิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO17025 โดยอ้างอิงมาตรฐานคุณภาพยาจากตำรายาสากล เช่น USP BP รายชื่อยาและผู้ผลิตที่ผลการตรวจ เมื่อวิเคราะห์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วจึงจะได้รับการเผยแพร่ใน GREEN BOOK
สำหรับแอพพลิเคชั่น GREEN BOOK อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า จัดทำขึ้นเพื่อสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพของยา โดยในแอพพลิเคชั่น นอกจากรวบรวมรายชื่อยาที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์ว่ามีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานในปี 2017 แล้ว ยังได้รวบรวมข้อมูลทั้ง 12 เล่มที่เผยแพร่ไปแล้วและเพิ่มผลการวิเคราะห์ยาปี 2559 เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงการจัดซื้อยาตามหลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ใช้คัดเลือกยาคุณภาพในราคาที่เหมาะสมไว้บริการผู้ป่วย โดยได้ประชาสัมพันธ์การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น รวมทั้งแจกจ่ายหนังสือไปยังโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งแล้ว
...
สำหรับประชาชน ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือที่ www. tumdee.org/alert/ หรือ https:///goo.gl/msEPoh ส่วนแอพพลิเคชั่น GREEN BOOK สามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ให้ง่ายต่อการสืบค้นข้อมูล โดยสามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และในอนาคตมีโครงการที่จะขยายขอบข่ายการตรวจวิเคราะห์ยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นยาที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลมากขึ้น สร้างความมั่นใจในคุณภาพยาให้แก่ผู้สั่งและผู้ใช้ยา.