"คนใน”–“คนนอก” วัดใจนักการเมือง
คงจะมีการพูดกันไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งจะออกมายังไง นั่นแหละถึงจะรู้กันว่า...
ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป?
นายกฯคนนอกนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าความเป็นไปไม่ได้ เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องเอาไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการให้มี ส.ว. 250 คน ที่มาจากแต่งตั้งของ คสช.
อีกช่องหนึ่งก็คือการให้มีนายกฯคนนอกได้ด้วยการลงมติร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ถ้ามาถึงขั้นนี้ก็ไม่ต้องไปคิดเป็นอื่น
แม้จะปิดทางเอาไว้ว่าจะต้องมีการเลือกจากคนใน ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองในสภาที่สามารถเสนอชื่อบุคคลที่เป็นนายกฯพรรคละ 3 คน
ถือเป็นการให้โอกาสพรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะคว้าตำแหน่งนี้ไปครองโดยไม่ต้องสนใจเรื่องนายกฯคนนอกแต่อย่างใด
แต่นั่นก็หมายความว่าพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องมี ส.ส.ในมือจากพรรคเดียวกัน หรือต่างพรรคก็ได้
นี่ถือเป็นกฎกติกาที่นักการเมืองมีความได้เปรียบกว่า
ทว่า พรรคการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรค คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ หากจับมือกันได้ไม่น่าจะมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล
ที่มีปัญหาก็คือโอกาสที่จะจับมือกันนั้นกลายเป็นเรื่องยาก
เรื่องการกีดกันหรือปิดกั้นไม่ให้นายกฯคนนอกหรือมาจากทหาร คงหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คสช.คนปัจจุบันด้วยข้อเสนอของใครต่อใคร
“พิชัย รัตตกุล” อดีตนักการเมืองอาวุโส เคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และยังเป็นผู้นำพรรคชนะเลือกตั้ง
แต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้านี้ได้เสนอทฤษฎีปิดกั้นทหารไม่ให้เป็นนายกฯคนนอก ด้วยการให้พรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรคใหญ่จับมือกันตั้งรัฐบาล เชื่อว่าจะสามารถปิดทางได้
...
แต่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมากลับเสนอแนวคิดใหม่เป็นแนวคิดที่เขาเคยมีประสบการณ์มาแล้วด้วยคำว่า “ข้อมูลใหม่” ด้วยการยกตำแหน่งนายกฯให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯต่อเนื่อง 8 ปี ด้วยการสนับสนุนจากอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนนี้แหละ...
หากพรรคการเมืองยังไม่สามารถ “ปรองดอง” และไม่สามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นเอกภาพ ก็เชิญ พล.อ.ประยุทธ์กลับเข้ามาบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง
“ในฐานะนายกฯคนนอกตามที่รัฐธรรมนูญได้เขียนเปิดช่องเอาไว้ ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจอย่างไรหรือไม่ก็ตาม”
ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกก็จะต้องยึดเอาโมเดล “ป๋าเปรม” มาบริหารจัดการประเทศ
ด้วยการตั้งรัฐมนตรีที่กอปรไปด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมาช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง
แต่ต้องลดจำนวนรัฐมนตรีที่มาจาก “ทหาร” ให้น้อยลง
ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลหากรัฐบาลหลังเลือกตั้งออกมาในลักษณะนี้ เพราะเป็นความจำเป็นในการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่นักการเมืองเห็นชอบ
ไม่ใช่รัฐบาล คสช.ที่ใช้ทหารมาเป็นรัฐมนตรีที่มีสัดส่วนทหารมากที่สุดอ้างว่าหาคนอื่นไม่ได้ และมีความไว้วางใจสูงโดยไม่กล้าขยับปรับเปลี่ยนแม้บางคนผลงานไม่เข้าตา หรือมีปัญหามาตลอด
เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าหากทำอะไรลงไปอาจเป็น “นายกฯตีนลอย” ได้.
“สายล่อฟ้า”