“ผมอยากเห็นประเทศไทยมีคนเจ๋งๆติดอยู่ในทำเนียบโลกบ้าง เราไม่เคยมีคนไทยได้รางวัลโนเบล ไม่เคยมีคนไทยเป็นอินโนเวเตอร์ระดับโลก ความคิดของผมคือมันไม่มีอะไรมาห้ามหรอก ตัวเดียวที่ห้ามคือคำว่าทำไม่ได้” คิดใหญ่ทำใหญ่แล้วต้องห้าวหาญด้วย ถึงจะก้าวข้ามอุปสรรคไปถึงฝั่งฝัน เหมือนอย่าง “เฉลิมพล ปุณโณทก” คนไทยตัวเล็กๆที่หาญกล้ามาสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการตัวแรกของอาเซียน เพราะอยากประกาศให้โลกรู้ว่าเมืองไทยก็มีอะไรเจ๋งๆที่ไม่ต้องตามก้นฝรั่ง

“ผมจบการตลาดจากจุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโทเอ็มบีเอ ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เด็กๆผมมีอุดมการณ์อยากทำอะไรให้ประเทศชาติ เราไม่มีโอกาสเป็นทหาร ก็ขอสักครั้งที่จะได้สร้างอะไรเจ๋งๆให้ประเทศ!! ผมไปเรียนต่ออเมริกาเพราะอยากทำงานในบริษัทไฮเทค และล้วงตับฝรั่ง เอาโนว์ฮาวของฝรั่งกลับมาสร้างอะไรเจ๋งๆให้เมืองไทย หลังเรียนจบ ผมได้งานทำที่ “จีอี แคปปิตอล” มันอาจจะไม่ไฮเทค แต่ผมสืบเสาะรู้ว่าที่นี่มีแผนกคอลเซ็นเตอร์ จึงสมัครเข้าไปเป็นโปรเจกต์แมเนเจอร์ และเรียกบริษัทใหญ่ๆทุกแห่งมาพรีเซนต์ว่าคอลเซ็นเตอร์ต้องทำยังไง เพื่อเรียนรู้โนว์ฮาวด้านนี้ทั้งหมด เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว พอเรียนรู้โนว์ฮาวทุกอย่างแล้ว ก็ลาออกกลับมาตั้งบริษัทคอลเซ็นเตอร์แห่งแรกในไทย ผมไม่ได้จบวิศวะ จึงต้องหาวิศวกรเก่งๆมาช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ นั่นคือ “คุณทศพล อภิกุลวณิช” เราใช้เวลาไม่เกินปีครึ่งก็เริ่มให้บริการลูกค้า ภายใต้ชื่อ CT ASIA”

...

บุกเบิกตลาดคอลเซ็นเตอร์เป็นคนแรก ยากไหมกว่าจะทำให้คนเข้าใจธุรกิจนี้

ผมเป็นโนบอดี้ ไม่มีใครรู้จักเลย ก็ต้องใช้วิชาของนักการตลาดชี้ให้ลูกค้าเห็นว่ามันเสี่ยงขนาดไหนที่อุตส่าห์สร้างแบรนด์มาอย่างดี แต่สุดท้ายต้องมาพังเพราะพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนเดียวพูดไม่ดี พอลูกค้าเข้าใจก็จะตัดสินใจซื้อซอฟต์แวร์ของเรา เพื่อควบคุมการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ การหาลูกค้ารายแรกยากที่สุด ผมใช้วิธีซาดิสต์กับตัวเอง ตัดชอยส์ลูกค้ารายใหญ่ๆไปเลย เพราะไม่มีใครยอมเป็นหนูทดลองของนายเฉลิมพล ตอนนั้นผมคิดนอกกรอบมากๆ โดยตั้งบริษัทอินฟอร์เมชั่นเซอร์วิสผ่านโทรศัพท์ ชื่อว่า “มิสเตอร์โฮม” เพื่อเป็นลูกค้ารายแรกของ CT ASIA เท่ากับว่าเริ่มทำทีเดียว 2 บริษัท “มิสเตอร์โฮม” เป็นคอลเซ็นเตอร์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย พอเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่าง เราก็ได้ลูกค้าจริงๆรายแรกคือ มือถืออีเรเดียมของเครือยูคอม

ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ไปได้สวยอย่างที่คิดไหม

มีแต่คนค้านว่าอย่าทำอะไรที่ไม่ถนัด แต่ผมก็มุ่งมั่นจะทำ ด้วยเงินลงทุน 3 แสนบาท ตอนนั้นมีพนักงาน 4 คน คือ ผม, คุณทศพล และเอ็นจิเนียร์อีก 2 คน พวกเราไปเช่าโรงเรียนอนุบาลร้างเป็นออฟฟิศ คนส่วนใหญ่มักอ้างว่ามีอุปสรรค ไม่ทำดีกว่า ไม่ยอมออกจากคอมฟอร์ตโซน สำหรับผมเห็นแต่เป้าหมาย ส่วนอุปสรรคค่อยหาทางแก้เอา ก่อนจะมองหาลูกค้า คนอื่นอาจมองหาเงินทุน แต่ผมปิดประตูเลยเพื่อให้สมองได้เค้นให้คิดนอกกรอบ หลังจากผมทำธุรกิจนี้ได้ครึ่งปี ก็เกิดสิ่งไม่คาดฝัน บริษัทยักษ์ใหญ่ “ไอบีเอ็ม” โทร.มาคุยว่าจะบุกตลาดคอลเซ็นเตอร์เมืองไทย อยากให้ผมเป็นตัวแทนจำหน่ายเจ้าเดียวในเมืองไทย การมาของไอบีเอ็มมีสองทางเลือกคือ ผมต้องชนช้าง ซึ่งมีแต่ตายกับตาย หรือสองสวามิภักดิ์ ผมเลือกข้อสอง ตอนนั้นรู้สึกชีวิตโหดร้ายมาก เราเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานเอง แต่ต้องยอมเป็นเหาฉลามสวามิภักดิ์ให้ฝรั่งซะแล้ว ตอนนั้นเก็บอุดมการณ์ซุกกระเป๋า กล้ำกลืนไปขายซอฟต์แวร์ให้ไอบีเอ็ม ซึ่งมันไม่ใช่ผมเลย ผมอยากชนกับฝรั่งให้รู้ไปเลยว่าใครเจ๋ง ทำไมเราต้องเป็นผู้ตามด้วย ชนะบ้างไม่ได้หรือไง ภายในปีเดียวผมปิดการขายให้ไอบีเอ็มเกือบ 10 โปรเจกต์ มูลค่านับ 10 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็ทำซอฟต์แวร์ไทยอยู่ใต้ดิน

อดทนนานไหมกว่าจะได้เป็น “ไท” ไม่ต้องเป็น “เหาฉลาม”

ผ่านไปแค่ปีเศษ ไอบีเอ็มก็ประกาศนโยบายเลิกทำธุรกิจซอฟต์แวร์ แล้วหันมาเป็นที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบและฮาร์ดแวร์ ตอนนี้ลูกค้าทั้งหมดของไอบีเอ็มเป็นของผม เรียกว่าเราครองมาร์เกตแชร์เมืองไทย 80% หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ก็ปล่อยให้หลายสิ่งมาคอนโทรลชีวิต แต่ผมรู้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร พอผมกำหนดเป้าหมายปุ๊บ ก็ดั้นด้นไป หาทางที่เราต้องการเลย ผมเชื่อเรื่องเกมสู่การชนะ เราต้องเป็นคนกำหนดเกมเอง อย่าไปเล่นตามเกมคนอื่น เราถึงจะชนะ การดีไซน์เกมของตัวเองสำคัญ กว่าการดีไซน์โปรดักส์ คนทั่วไปมักก๊อบปี้ฝรั่ง แล้วทำแข่งในราคาถูกกว่า แต่นั่นคือเกมของผู้ตาม

...

ความสำเร็จก้าวแรกนำมาสู่การคิดใหญ่ระดับโลกได้อย่างไร

ถ้าถามว่ากินดีอยู่สุขไหม...ก็ใช่ บริษัทเราสามารถทำรายได้ปีละ 50-60 ล้านบาท แต่มันไม่ตอบโจทย์อุดมการณ์ของผมแล้ว ประเทศไทยมี “ซอฟต์แวร์ คอลเซ็นเตอร์” แล้วยังไงล่ะ มันสร้างว้าวให้ประเทศชาติไม่ได้!! เมื่อปี 2552 ผมจึงก่อตั้งบริษัท “CT ASIA ROBOTICS” เพื่อสร้างหุ่นยนต์บริการตัวแรกของไทยและอาเซียน ตั้งชื่อว่า “หุ่นยนต์ดินสอ” ผมสะดุดใจกับวิศวกรแชมเปียนหุ่นยนต์ ที่ได้รับรางวัลระดับโลกเยอะแยะ แต่สุดท้ายพวกนี้ไปไหนหมด ไม่เห็นมีหุ่นยนต์ไทยออกมา ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหาเงินยังไง รู้แต่ว่าต้องเริ่มทำ ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีวันเป็นจริงได้

...

โหดและหินขนาดไหน ตอนเริ่มสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สัญชาติไทย

ผมตระเวนคุยกับแชมเปียนโลกคนไทยว่าอยากทำหุ่นยนต์ไหม แล้วก็เล่าประสบการณ์ทำธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ของผมว่าประสบความสำเร็จยังไง กลุ่มแรกลุยไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พวกเขาอยากทำหุ่นยนต์ต่อ แต่ไม่มีใครกล้าลงทุนในเมืองไทย ตอนนั้นคนรอบข้างพูดอีกแล้วว่าอย่าทำเลย ไม่มีทางรอดหรอก ใครจะซื้อหุ่นยนต์ไทย ของญี่ปุ่นยังเจ๊งเลย มีแต่คนห้าม ผมต้อง ซาดิสต์กับสมองตัวเอง ถึง 3 ปีแรกขายไม่ได้ก็ยอม ผมออกแบบและทำหุ่นยนต์เอง ชื่อว่า “ดินสอ” ตัวแรกยังทำอะไรไม่ได้หรอก แต่ผมอยากพิสูจน์ว่าหุ่นยนต์สามารถสร้างเป็นตัวได้จริง ผมคิดแผนไว้หลายทาง แผน A ทำให้หุ่นยนต์ตัวต้นแบบเมกมันนี่ให้ได้ หน้าของดินสอก็เลยเป็นสื่อโฆษณา แผน B คือสร้างเป็นการ์ตูน ผมวาดการ์ตูนเรื่องดินสอทั้งเล่ม ส่วนแผน C ทำหุ่นยนต์ขายเพื่อประโยชน์ใช้สอย ภายในเวลา 3-4 ปี เน้นไปที่การสร้างหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ปรากฏว่าแผน A เวิร์กมาก ไม่ต้องใช้แผน B เพราะคนแย่งกันเช่าคุณดินสอไปทั้งตัว ราคาวันละ 2-3 หมื่นบาท ออกอีเวนต์สารพัด ดินสอได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 4-5 ครั้งแล้ว เคยเข้าเฝ้าฯมกุฎราชกุมารบรูไนด้วย ตั้งแต่นั้นคุณดินสอก็ดังไปทั่วประเทศ ต่อมาผมได้โปรเจกต์ใหญ่จากสุกี้เอ็มเค 10 ตัว ขายตัวละล้าน อีกวันที่ภูมิใจคือ เราส่งออกหุ่นยนต์ไทยไปสวีเดน 12 ตัว ไปอยู่ที่ร้านอาหารในสตอกโฮล์ม ตอนนี้คุณดินสอมีหลายอาชีพมาก เป็นพนักงานเสิร์ฟ, พนักงานขายของในเครือสหพัฒน์, เป็นรีเซพชั่น และอาชีพในอนาคตคือการดูแลผู้สูงอายุ

...

จนถึงวันนี้พัฒนาหุ่นยนต์ไปแล้วกี่รุ่น

3 + 1 หุ่นยนต์รุ่นล่าสุด คือ “ดินสอ รุ่น 4” จะเดินมาหาผู้สูงอายุได้มองเห็นผู้สูงอายุตอนกลางคืนว่าลุกขึ้นมาแล้วล้มหรือเปล่า มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจมนุษย์ โดยไม่ต้องสัมผัส ผมจะสร้างหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุตามสถานพยาบาลต่างๆ และเสริมขึ้นมาอีกอาชีพคือ ดูแลคนไข้ โดยระหว่างรอรุ่น 4 เรามี “ดินสอ มินิ” หุ่นยนต์ตั้งโต๊ะขนาดกะทัดรัด พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับผู้สูงอายุติดเตียง ผมนำ “ดินสอ มินิ” ไปทดลองที่เนิร์สซิ่งโฮมในนากาโน ประเทศญี่ปุ่น ในญี่ปุ่นมีเนิร์สซิ่งโฮมเล็กๆแบบนี้เต็มไปหมด “คุณดินสอ มินิ” จะเป็นเพื่อนคุยกับคุณตาคุณยาย มีเครื่องวัดสุขภาพ วีดิโอคอลล์กับคุณหมอ และลูกหลาน มีชวนออกกำลังกาย ชวนเล่นเกม ชวนร้องคาราโอเกะ เรามีโมบายแอพให้ลูกหลานอัพเดตข้อมูลใส่หุ่นยนต์ทุกวัน คนญี่ปุ่นชมว่าน่ารักและถูกใจประโยชน์ใช้สอย ผมได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่นแล้ว โดยลอตแรกญี่ปุ่นสั่ง 500 ตัว ผมอยากจะล้ำขึ้นไปอีก จึงรวมศาสตร์ด้านการแพทย์เข้าไปในหุ่นยนต์ ต่อไปจะมีหุ่นยนต์จิ๋วที่สามารถเข้าไปสำรวจร่างกายมนุษย์

มาถึงครึ่งทางของความฝันหรือยัง

จาก 100% ผมเพิ่งทำไปได้ 10% ผมอยากเห็นประเทศไทยมีคนเจ๋งๆไปอยู่ในทำเนียบโลกบ้าง ศักยภาพคนไทยต้องบุกโลกได้

อยากให้คนจดจำ “นายเฉลิมพล” แบบไหน

เป็นผู้สร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สัญชาติไทยคนแรก เราเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์แล้วทีละนิด ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราเคยเป็นแต่ผู้ตาม แต่ในยุคโรบอท ผมอยากเห็นคนไทยเป็นผู้นำบ้าง ในอนาคตเราจะขาดหุ่นยนต์ไม่ได้ เหมือนขาดมือถือไม่ได้ อินดัสเตรียลโรบอทมีอยู่มานานแล้ว แต่คนละเรื่องกับเซอร์วิสโรบอท ที่ต้องละเอียดอ่อนกว่ากันเยอะ ต้องสร้างเซนเซอร์ให้รองรับความหลากหลายของผู้คน อยากให้คนไทยทำอะไรจากโจทย์ของโลก ไม่ใช่โจทย์ของไทย อีก 10 ปีข้างหน้า ผมฝันว่าสินค้าส่งออกสำคัญของไทยคือหุ่นยนต์.

ทีมข่าวหน้าสตรี