กทปส.ร่วมกับ มจพ.พัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่ฯ สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์-เกษตรประณีต ตอบโจทย์การทำ e-commerce ตามนโยบาย รบ. เพื่อช่วยลดปัญหาผลผลิตตกค้าง

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาควิชาการบริหารเครือข่ายดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่ บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่มีผลผลิตคุณภาพสูง เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรประณีต สามารถรวบรวมข้อมูลและวางแผนการผลิตของตนเอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากการทำตลาดล่วงหน้าแบบสั่งจอง (Pre-order) ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลฝั่งผลิต (Supply Side) ทำให้ผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้แปรรูป สามารถคาดเดาปริมาณผลผลิตก่อนออกสู่ตลาดได้ ตอบโจทย์การทำ e-commerce ตามนโยบายรัฐบาล เพ่อช่วยลดปัญหาผลผลิตตกค้าง

...

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ หัวหน้าภาควิชาการบริหารเครือข่ายดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บความความต้องการและรวบรวมปัญหาของเกษตรกรล่วงหน้าก่อนเสนอโครงการกว่า 2 ปี ทำให้เราสามารถออกแบบแอปพลิเคชัน ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานภาคการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรได้ในหลากหลายชนิด ครอบคลุมทั้งพืช ผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ โดยขณะนี้แอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่ฯ ในเวอร์ชันแรก อยู่ระหว่างการนำไปทดสอบกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น จ.น่าน จ.อุทัยธานี จ.เชียงราย จ.นครศรีธรรมราช และ จ.เพชรบุรี เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการแก่เกษตรกรทั่วประเทศฟรีต่อไป โดยคาดว่าระบบจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการภายในเดือน ส.ค. 65 นี้

โครงการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่ บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพื่อการออกแบบระบบ จากพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ เช่น กลุ่ม Young Smart Farmer, สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จนถึงเกษตรกรรายย่อยที่สนใจการทำเกษตรประณีต จำนวนมากกว่า 300 คน ซึ่งหลังจากแอปพลิเคชันผ่านการทดสอบแล้ว เกษตรกรและผู้ที่สนใจจะสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีทั้งจาก App Store, Play Store หรือใช้งานผ่าน Web Browser ได้โดยตรง โดยผู้วิจัยคาดหวังว่าแอปพลิเคชันนี้ จะช่วยเป็นส่วนในการผลักดันมูลค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์เกษตรปลอดภัยและเกษตรประณีต และยังช่วยพัฒนากลไกการตลาดออนไลน์ของภาคเกษตรในอนาคตอีกด้วย