นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในแมลงที่เป็นศัตรูพืช และคิดค้นวิธีทำให้ยีนในตัวหนอนใยผักสามารถทำลายได้ ซึ่งจะเป็นการควบคุมบรรดาหนอนศัตรูของพืชผัก โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง เนื่องจากหนอนแมลงเหล่านี้เริ่มควบคุมได้ยากขึ้น เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะผลัดรุ่นกันมารุกรานพืชผักทุกปี ทำให้ทั่วโลกเสียงบประมาณในการหาวิธีกำจัดปีละเกือบ 175,000 ล้านบาท ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา

การทดลองดัดแปลงพันธุกรรมหนอนใยผักเริ่มขึ้นเมื่อปี 2558 โดยการทดลองสังเคราะห์ยีนที่ทำให้ตัวอ่อนเพศเมียตายก่อนจะโตเต็มวัย ส่วนตัวผู้ที่ถูกทดลองจะปล่อยออกไปผสมพันธุ์กับตัวเมียในธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดประชากรหนอนใยผักและยับยั้งการสืบพันธุ์ ที่สำคัญคือการลดจำนวนของหนอนใยผักตัวเมียในรุ่นต่อๆไป

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรเกษตรอินทรีย์และกลุ่มที่ต่อต้านการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และยังถูกจำกัดไว้ในพื้นที่ควบคุม เนื่องจากต้องมีการประเมินและรอใบอนุญาตจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อปล่อยออกสู่แปลงผักกะหล่ำปลีขนาด 40,000 กว่าตารางเมตรในสถานีทดลองการเกษตรของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองอัลบานี ในรัฐนิวยอร์ก.