"สุขา ธีสิส" สำรวจความคิดเห็น "ห้องน้ำแบบไหนที่คุณคิดว่า ตอบโจทย์สภาพสังคมมากที่สุด" ขณะที่โซเชียลถกสนั่น "ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ" เป็นไปได้ไหมในสังคมไทย

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงถกเถียงกันอย่างมากในโลกออนไลน์ เมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ "ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ" ว่าเป็นไปได้ไหมในสังคมไทย ซึ่งก็มีการแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ไม่ได้ ต้องแบ่งค่ะ, คิดว่าควรแยกกันไปเลย, แบ่งเถอะครับ มันไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง, เพิ่มห้องน้ำไปเลยสิ ห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง ห้องน้ำ LGBTQ+ เป็นต้น

ขณะที่ Sukha Thesis (สุขา ธีสิส) อดีตกลุ่มนักศึกษาที่เคยโด่งดังจากการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับห้องน้ำสำหรับ LGBTQIA+ ก็ได้สำรวจความคิดเห็นว่า "ห้องน้ำแบบไหนที่คุณคิดว่า ตอบโจทย์สภาพสังคม ณ ปัจจุบัน มากที่สุด" ซึ่งจะแบ่งห้องน้ำออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 

  • อนุญาตให้เข้าตามเพศสภาพได้ เป็นห้องน้ำชาย-หญิง ตามเดิมแต่อนุญาตให้ทรานส์เข้าตามเพศสภาพได้
  • ห้องน้ำห้องที่สาม มีห้องน้ำชาย-หญิง ตามเดิมแต่เพิ่มห้องที่สามมาคั่นกลาง สำหรับ LGBTQIA+
  • ห้องน้ำเฉพาะ แบ่งสัดส่วนชัดเจน สร้างห้องน้ำหลายๆ ห้อง แบ่งเฉพาะเพศ เช่น ห้องน้ำสำหรับเกย์, ห้องน้ำสำหรับทรานส์
  • ห้องน้ำรวม (All Gender) ใช้ร่วมกันได้ทุกเพศ มองที่ฟังก์ชันการใช้งานของห้องน้ำ คือ ห้องน้ำเป็นแค่สถานที่มาปลดทุกข์, ทำความสะอาดร่างกาย

...

หนึ่งในทีม "สุขา ธีสิส" จากคณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้พูดถึงประเด็น "ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ" กับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" โดยระบุว่า เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีคนติดต่อมาในเฟซบุ๊กเพื่อสอบถามเรื่องห้องน้ำที่พวกเราเคยทำ โดยเค้าอยากรู้ว่ามุมมอง ณ วันนั้นกับวันนี้ เรามีมุมมองที่เปลี่ยนไปยังไงบ้าง กระทั่งบทความเพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อ 2 วันที่แล้ว ทำให้เกิดกระแสพูดถึงและถกเถียงกันจำนวนมาก

ซึ่งจากการดูภาพรวมแบบเร็วๆ ในโซเชียล ณ วันนี้ ส่วนใหญ่จะบอกว่า ห้องน้ำแบบเดิมดีอยู่แล้ว คือ เป็นห้องน้ำแบบ 2 เพศโดยกำเนิด เหมือนส่วนใหญ่จะสื่อว่า ขนาดห้องน้ำที่แบ่งเพศอยู่แล้ว ยังเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือเจอความไม่ปลอดภัยเป็นเรื่องปกติอยู่เลย ถ้าเอามารวมกันจะไม่ยิ่งแย่ไปกว่าเดิมเหรอ จะเป็นความเห็นประมาณนี้ แต่ก็มีบางส่วนบอกว่า ทำไม LGBT ต้องเรียกร้องเยอะ

ทั้งนี้ จากความคิดเห็นส่วนใหญ่ปัจจุบันคนไม่ได้กังวลเรื่องเพศสภาพแล้ว แต่เป็นห่วงความปลอดภัยเป็นหลักและความสะอาด ซึ่งตอนที่ทำสุขาธีสิส คำตอบก็จะเป็นประมาณนี้เหมือนกัน ซึ่งจุดประสงค์หลักของทีมที่ทำธีสิสไม่ได้ต้องการจะสร้างห้องน้ำที่รวมทุกเพศเป็นห้องเดียว แต่พวกเราอยากตั้งคำถามกับสังคม ว่าถ้าเกิดมีห้องน้ำแบบนี้ขึ้น คนในสังคมจะมีความคิดเห็นกันยังไง ถือเป็นการสื่อสารในแบบใหม่ๆ มากกว่า เพราะสุขาธีสิสนั้น จะพูดถึงเรื่องห้องน้ำสำหรับ LGBTQAI+ หากจะมีขึ้นมา เราต้องมองไปในมิติไหนบ้าง ซึ่งก็ได้มาคร่าวๆ อย่างเข้าใจง่ายๆ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ, 2.ความสะอาด, 3.ความปลอดภัย

ด้วยตัวเนื้องานเองได้มีการนำเสนอในหลายๆ มิติ ที่กล่าวไปในสื่อหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงมีสื่อกิจกรรมให้คนในสังคมได้ออกมาโหวตว่าห้องน้ำแบบไหนตรงใจกับทุกคน เพื่อดูบริบทของสังคมว่าคิดเห็นอย่างไร ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของงานมีความตั้งใจที่จะเสนอแนวทาง หากมีการสร้างในอนาคต โดยจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่กล่าวไปในข้างต้น และให้สอดคล้องกับบริบทในสังคมไทยในปัจจุบัน แน่นอนว่า ความปลอดภัย ความสะอาด เป็นสิ่งที่สังคมยังรู้สึกกังวล หากจะต้องมีห้องน้ำรวมเพศ งานของเราจึงเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่จะต้องมีการศึกษากันต่อไปในประเด็นนี้ที่ยังมีความละเอียดอ่อนในสังคมไทยเรา

อย่างไรก็ตาม ทางเรารู้สึกขอบคุณทุกความคิดเห็นที่สังคมได้มีการแสดงความคิดเห็นนี้มา ทำให้ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่นำไปเป็นปัจจัยให้กับองค์กรหรือสังคม ที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาทำในอนาคตได้ศึกษาต่อไป.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก sukha thesis