• รู้จัก ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ในประเทศไทยมีกี่แบบ แล้วแบ่งจากอะไร
  • การเรียนลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด มีประโยชน์อย่างไร ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญ

เรียกว่าเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียล เมื่อโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.หนองคาย ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการแต่งกายชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ประจำปีการศึกษา 2567 เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้ปกครองนักเรียน โดยให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดกีฬาโรงเรียน รองเท้าผ้าใบสีขาว และสวมผ้าผูกคอ หมวก ของลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ส่วนคุณครูก็มีการปรับเช่นเดียวกัน จนกลายเป็นกระแสที่หลายคนออกมาชื่นชม

ทั้งนี้ เราจะพาย้อนไปดูว่า ปกติแล้ว ลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด มีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร

สำหรับ "ลูกเสือไทย" เริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454 หลังจากประวัติลูกเสือโลกก่อตั้งเพียง 4 ปีเท่านั้น เริ่มแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนิสัยในการสังเกต เชื่อฟัง และพึ่งพาตนเอง โดยต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ ตลอดจนรู้รักษาและส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ

...

ประเภทของ ลูกเสือ-เนตรนารี

แต่ละประเทศ ที่มีกิจการลูกเสือ จะมีการแบ่งประเภทเอาไว้เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ หลักการ และวิธีการขององค์การลูกเสือโลก ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม ของแต่ละประเทศ แต่โดยภาพรวมแล้วจะแบ่งประเภทลูกเสือตามเกณฑ์อายุ ด้วยการที่คำนึงถึงพัฒนาการทางรางกายและจิตใจของเด็กเป็นพื้นฐานในการฝึกอบรม เพื่อไม่ให้ฝืนธรรมชาติของเด็ก ทำให้เด็กพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

ซึ่งประเทศไทยเอง แบ่งประเภทของลูกเสือตามแบบประเทศอังกฤษ เพียงแต่มีการกำหนดประเภทลูกเสือชาวบ้านเพิ่มขึ้นเป็นประเทศเดียวในโลก ดังนี้

ลูกเสือ-เนตรนารี 

  • ลูกเสือสํารอง เนตรนารีสํารอง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ด้วยคติพจน์ “ทําดีที่สุด (Do Our Best)”
  • ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ด้วยคติพจน์ “จงเตรียมพร้อม (Be Prepared)”
  • ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ด้วยคติพจน์ “มองไกล (Look Wide)”
  • ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อาชีวศึกษา ด้วยคติพจน์ “บริการ (Service)”
  • ลูกเสือชาวบ้าน (มีเฉพาะในประเทศไทย)

ยุวกาชาด มี 2 ประเภท

  • สมาชิกยุวกาชาด อายุ 7-18 ปี หรือกําลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • อาสายุวกาชาด อายุ 15-30 ปี หรือกําลังศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบการศึกษา

ทำไมต้องเรียนลูกเสือ

ดร.สุทิน แก้วพนา เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เอาไว้ว่า กิจกรรมลูกเสือฯ (ลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์) เป็นเหมือนส่วนเสริม ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งทางทฤษฎี และการปฏิบัติ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ต้องใช้ประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริง ผ่านการบ่มเพาะ ผ่านการเรียนลูกเสือ ยุวกาชาด 

เพราะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของเด็ก ผ่าน 8 กลุ่มสาระ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคม ศาสนา วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา พละ ศิลปะ การงานอาชีพ ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ไม่สามารถทำให้เด็กเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ได้ครบถ้วน เพราะความรู้บางเรื่องจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านทักษะความรู้และประสบการณ์ และกิจกรรมที่เหมาะสม ที่จะช่วยพัฒนาให้เป็นคนดี มีคุณธรรม ทำให้รู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนผ่านกิจกรรม มีระเบียบวินัย เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบ รู้จักการแก้ปัญหา

อ้างอิงจาก สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ