เทศกาลสงกรานต์ วันหยุด ประจำปีที่ “คนไทย” ต่างรอคอยจะได้มีโอกาสพักร้อนเดินทางกลับภูมิลำเนาท่องเที่ยวพักผ่อนใช้เวลาอยู่กับ “ครอบครัว” ในการร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และเฉลิมฉลองสังสรรค์และเล่นน้ำตามประเพณีอันงดงามของไทยนี้
แล้วยิ่งปีนี้เป็นปีพิเศษ “ยูเนสโก” ขึ้นทะเบียนสงกรานต์ไทยเป็นมรดกโลกวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่จับต้องไม่ได้ “รัฐบาลไทย” จึงถือโอกาสจัดมหาสงกรานต์ภายใต้ชื่อ “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัด และ 50 เขตใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย.นี้
เพื่อเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ประเพณีสงกรานต์ชุ่มฉ่ำเริงร่ายาวกว่า 21 วัน ทำให้สงกรานต์ปีนี้คึกคักสร้างเม็ดเงินสะพัดมหาศาลโดย อุมากมล สุนทรสุรัติ ผช.ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ที่ได้แถลงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคช่วงสงกรานต์นี้ว่า

...
ก่อนหน้านี้ได้สำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่าง 1,280 คนทั่วประเทศ พบว่า “คนไทย” มีแผนจะไปเล่นน้ำสงกรานต์ 45.2% โดยเฉพาะ GenZ, Y มุ่งเน้นทำบุญ 66% และเดินทางเยี่ยมญาติรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 42%
แล้วหลายคนยังวางแผนเดินทางไปท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่างๆ 66.1% แต่ว่าตัวเลขนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 72.8% แล้วลักษณะการเดินทางส่วนใหญ่ไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวแบบครอบครัวค้างคืนมากกว่า 2 คืน
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมนั้น “ภาคกลาง” ตั้งแต่ จ.ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี “ภาคเหนือ” จ.เชียงใหม่ สุโขทัย “ภาคอีสาน” นครราชสีมา ขอนแก่น “ภาคใต้” ตั้งแต่ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช และคาดว่าอัตราค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ 6,400 บาท

นอกจากนี้ก็ยังมีคนไทยบางส่วนวางแผน “เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ” แล้วประเทศที่มักได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่นและจีน” มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 4 หมื่นบาท/คน
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า “สงกรานต์ปีนี้คนไทยกว่า 26.3%” ต้องการอยากพักผ่อนอยู่บ้านเฉยๆ และมีบางคนกลับบ้านต่างจังหวัดจะไม่ไปร่วมกิจกรรมอื่น 12.8% อันเป็นตัวเลขสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว
ถัดมาในแง่ “การวางแผนใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์นี้” โดยภาพรวมคนไทยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วด้วย “ประชาชนกว่า 32.4%” มองว่าสินค้าและบริการราคาแพงขึ้น มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน รวมถึงมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวจนมีสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ที่เพิ่มสูงขึ้น
ถ้าหากแยกประเภท “ค่าใช้จ่าย” อย่างเช่นกรณีการเดินทางไปทําบุญมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,130 บาท เดินทางเยี่ยมญาติรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ต้องใช้จ่าย 2,422 บาท เล่นน้ำสงกรานต์ 810 บาท จัดเลี้ยงสังสรรค์ 3,542 บาท สินค้าอุปโภคบริโภค 1,797 บาท ทานข้าวนอกบ้าน 1,506 บาท ซื้อสุรา 1,309 บาท และเที่ยวสถานบันเทิง 1,232 บาท

ทว่าเงินถูกนำมาใช้จ่ายส่วนใหญ่นำมาจาก “เงินเดือนรายได้ปกติ 54.8%” แต่ก็มีบางส่วนนำเงินจากการออมออกมาใช้ 39.8% หรือการไปกู้เงินมาใช้จ่าย 2.6% ดังนั้นในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คาดว่าน่าจะมีเงินสะพัด 128,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่หากเทียบกับปี 2562 ก็ยังคงลดลงอยู่ที่ 5.2%
แต่หากมาดู “ทรรศนะของภาคเอกชนต่อเทศกาลสงกรานต์ปีนี้” ที่มีการจัดกิจกรรมงานรื่นเริงมากขึ้นนั้นส่งผลให้บรรยากาศมีความคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว 45.9% แล้วเมื่อเทียบฐานข้อมูลเดือน เม.ย.2562 อันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทย 3.2 ล้านคน สร้างรายได้ 142,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัว 4.4 หมื่นบาท
ดังนั้นในวันที่ 12-16 เม.ย.2567 จะมีนักท่องเที่ยวมาในไทย 4.65 แสนคน สร้างรายได้ 1.1 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดตามนโยบายจัดงานมหาสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย.2567 คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.9 ล้านคน สร้างรายได้ 6.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.06-0.39%
“เช่นนี้ถ้าประมาณการเงินหมุนเวียนสะพัดในช่วงสงกรานต์ 2567 บวกกับรายได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย 5 วันจะอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบต่อ GDP ร้อยละ 0.79 แต่หากคำนวณจากการจัดกิจกรรมสงกรานต์ 21 วันจะสามารถสร้างรายได้ 1.98 แสนล้านบาทส่งผลกระทบต่อ GDP ร้อยละ 1.11” อุมากมลว่า

ขณะที่ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย บอกว่า ผลสำรวจในช่วงสงกรานต์ปีนี้ค่อนข้างคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว “แต่เป็นลักษณะเติมเต็มจากเมืองท่องเที่ยวหลัก” ที่ถูกหนุนมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย
ด้วยปัจจัยจาก “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล” ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการประกาศหยุดติดต่อกันหลายวัน การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ว่าการจับจ่ายใช้สอยยังระมัดระวังเพราะช่วงที่ผ่านมา “บรรยากาศการขายในจังหวัดไม่กระเตื้อง” ส่งผลให้เศรษฐกิจถูกกัดกร่อนมาตั้งแต่ปีใหม่จนถึงทุกวันนี้
เรื่องนี้ทำให้ “เศรษฐกิจไม่ดีมีแนวโน้มโตต่ำ 2–3%” เป็นการขยายตัวที่ไม่สูงนักแม้ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น “แต่ก็คงกระจุกตัวอยู่หัวเมือง” ส่งผลให้ช่วงสงกรานต์ปีนี้ประชาชนไม่มีรายได้ต่างต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังตัว ประกอบกับสินค้าก็ราคาแพงมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ต้องมีการประหยัด

ดังนั้นประเมินว่า “คนไทย” น่าจะมีการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และร่วมกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 129,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวขึ้น 2.9% ที่เป็นการจับจ่ายใช้สอยสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายสถิติในปี 2562 มีการใช้จ่ายอยู่ที่ 135,000 ล้านบาท
จริงๆแล้ว “เทศกาลสงกรานต์ 2567” คาดการณ์ว่าน่าจะมีเงินสะพัดอยู่ 130,000-132,000 ล้านบาท ใกล้เคียงปี 2561 อยู่ที่ 132,163.87 ล้านบาท “แต่ไปไม่ถึงเพราะผู้คนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย” โดยกลุ่มตัวอย่าง 65.3% มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีแล้วปีนี้ก็น่าจะโตต่ำเพียง 2.01-2.50%
สวนทางกับทรรศนะ “ภาคเอกชน” ที่เห็นการจัดงานรื่นเริงมากขึ้นส่งผลให้บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์คึกคักจากแรงหนุน “รัฐบาล” ที่ชูสงกรานต์ไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลกจัดยาว 21 วัน ทำให้ต่างชาติจะเข้ามาเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านคน หรือเฉลี่ย 600,000 คนต่อสัปดาห์ สามารถดึงเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยสูงขึ้น
คาดว่าน่าจะมีเงินสะพัดเกือบ 70,000 ล้านบาท และในช่วงสงกรานต์ 5 วัน จะมีนักท่องเที่ยว 4.65 แสนคน จะสร้างรายได้ 11,802 ล้านบาท ทำให้ประเมินว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีเงินสะพัด 1.4-2 แสนล้านบาท

สิ่งนี้ยังจะส่งผลให้ไตรมาสแรก “เศรษฐกิจไทยจะขยายขึ้น 1–2%” แล้วในไตรมาสที่สองก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8-2.3% ดังนั้นรัฐบาลควรต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุน เพราะประเทศไทยมิได้ใช้งบเป็นปกติมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2566-เม.ย.2567 ด้วยปกติงบลงทุนนี้จะเข้าในระบบ 3-4 หมื่นล้านบาท/เดือน
กลายเป็นว่า “ประเทศไทยขาดแรงขับเคลื่อนมาตั้งแต่ ม.ค.–เม.ย.2567” ทำให้เงินหายไปจากระบบประมาณแสนล้านบาท “กระทบต่อเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพซึมๆ” แต่ถ้าสามารถเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ในเดือน มิ.ย.2567 “อันเป็นช่วงการจัดซื้อจัดจ้าง” ก็ย่อมจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3, 4
เพื่อเร่งรัดให้ “เกิดการลงทุน” เพราะแนวโน้มโครงการดิจิตอลดอร์ล็อกน่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.2567 “นำไปสู่การกระตุ้นการใช้จ่ายปลายปี” ทำให้ตัวเศรษฐกิจคึกคักขึ้นเป็นบวก 0.3-0.5% ของ GDP
นี่คือการคาดการณ์ “ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567” ที่น่าจะมีเงินสะพัดจากแรงหนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้นเช่นนี้ “คนไทย” ก็ควรต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาสัมผัสประเพณีอันงดงามให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป.