ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด วช.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันหรือ Haze Free Thailand ซึ่งมีการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยเพื่อหาแนวทางการรับมือและข้อควรปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบทางด้านสุขภาพและรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาวิกฤติของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพที่ดี
รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังฝุ่นในเมือง ว่า ได้มีการศึกษาผลจาก PM 2.5 กับอัตราการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตของคนในกรุงเทพฯ พบว่า ทุกๆการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 จำนวน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในกรุงเทพฯจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 0.8% และจะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น 3.12% ในกลุ่มอายุ 15-65 ปี ขณะที่การเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจสูงขึ้น 1.39% ทั้งนี้แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากควันท่อไอเสียรถยนต์เป็นหลัก และทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง PM2.5 แม้กระทั่งการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะควันน้อยแต่สามารถเพิ่ม PM2.5 ในอาคารได้เป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล รอง ผอ.สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาเครือข่ายข้อมูลคุณภาพอากาศจากเซ็นเซอร์ที่เรียกว่า “DustBoy” ที่สนับสนุนโดย วช.ข้อมูลคุณภาพอากาศจาก DustBoy และเครือข่าย ปัจจุบันมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และแอป พลิเคชันต่างๆช่วยพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3-5 วัน.
...