ถ้าเมืองไทย...เป็นไปตามคำเตือนจากนักวิชาการรายหนึ่งที่ว่า ทารกบ้านเราลืมตาดูโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้วเหลือ 5.44 แสนคน ปีเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงาน คนขี้เกียจหายใจสิ้นลมปราณเพิ่มขึ้นเป็น 5.63 แสนคน...อนาคตเมืองไทยเห็นท่าจะว้าเหว่

น่าฉงน?...เมื่องานวิจัยมหาวิทยาลัยชื่อดังสหรัฐอเมริกาบอกอีก 78 ปีหรือปี พ.ศ.2643 หลายประเทศทั่วโลกจะมีน้องน้อยอุแว้ออกมาบางตา “เมืองไทย” วิจัยบทนั้นระบุเคยมีประชากร 71 ล้านคน... จะแทงต่ำเหลือเพียง 35 ล้านคน

บริบทนี้ขอไม่เชื่อไว้ก่อน...เพราะอีกนานกว่าจะถึงปีนั้น

แม้แนวโน้มทารกไทยจะลดจำนวนลงทุกปี แต่อะแฮ่ม! เมืองไทยตามสายตาชาวโลกหลังโควิด-19 ระบาด ต่างยกนิ้วกดไลค์ยอมรับเรามีนวัตกรรมการแพทย์ก้าวหน้าทันสมัยรับมือโรคดังกล่าวได้

แถมประกาศก้องให้เพื่อนร่วมโลกรู้ด้วยว่า ไทยแลนด์คือ “เวลล์เนสส์ฮับ” มีฟังก์ชันช่วยเสริมสร้างสุขภาพเหนือปฐพีใดในเอเชียทวีป และเป็นปัจจัยสำคัญเรียกคนต่างชาติจากทุกซอกมุมมาใช้บริการ “เมดิคัลฮับ” หรือ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” บ้านเราอีกด้วย

...

สถานการณ์เช่นนี้ต้องคุยว่า...เป็นผลพลอยได้เรื่องท่องเที่ยวเรียกเงินตราต่างประเทศ เมื่อหลังรักษาสุขภาพแล้วเที่ยวได้สบายใจเฉิบ

ถ้าเป็นเช่นนั้น...เปิดปกประเทศไทยใช่มีดีแค่ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น ข้าวเหนียวไก่ย่างปาปาย่าป๊อกๆ แต่ยังไวรัลด้านคุณภาพชีวิต...คือมีหมอมือดีรักษาโรค

มีเภสัชกรมือเฉียบผลิตยาป้อนถึงห้องนอน พบได้จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์และออนไลน์ แถมราคา 9,000 ขาย 900 บาทแล้วเพิ่มจำนวนแบบอาซ้อมาเอง ไม่กลัวคำว่า “ทุนหายกำไรหด”

คอนเทนต์เว่อร์ๆที่ว่ามาข้างต้นนี้...เจ้าของร้านขายยาแผนปัจจุบันหน้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เผยว่า...นับแต่พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 และแก้ไขล่าสุด พ.ศ.2522

ให้ “อาหารเสริม” จัดอยู่ในนิยาม อาหารจากธรรมชาติที่บริโภคนอกเหนือจากอาหารหลัก 3 มื้อ เพื่อดูแลและเพิ่มพลังสุขภาพ กับเสริมอาหารที่ร่างกายขาดหายไป ให้สามารถโฆษณาได้เช่นเดียวกับ “เครื่องสำอาง” ซึ่งต่างกับ “ยา” ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510

นี่จึงเป็นที่มาของกระแสการดูแลสุขภาพเกิดปังขึ้น จากการทุ่มโฆษณาสร้างซอฟต์เพาเวอร์สู่ผู้บริโภค ทั้งที่ “อาหารเสริม” บางตัวจ่อเป็น “ยา” รักษาโรค อวดอ้างขจัดโรคไตทุกระยะ

...บางตัวช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นช่องคลอดสตรี อีกตัวช่วยเสริมข้อเข่า สะโพกร้าว หมอนรองกระดูกหลังทับเส้นประสาทกลุ่มผู้สูงอายุ มีตัวช่วยลดน้ำหนักแทนลดความอ้วนซึ่งผิด พ.ร.บ.ยา...แล้วแต่จะเลี่ยงบาลีกันไป

ทั้งนี้ อาศัยการผลิตสื่อโฆษณาแนวใหม่ จากเคยวางสปอตภาพนิ่ง 30 วิถึง 60 นาที เปลี่ยนเป็นใช้พรีเซนเตอร์คุยโม้โอ้อวดสินค้าให้โดนใจ หรือมีผู้ร่วมรายการมาเสริมความวิเศษน่าเชื่อถือ ใช้เวลาลากยาว 5 ถึง 10 นาทีต่อครั้งจากเทปที่บันทึกไว้...โดยไม่ยี่หระกับค่าซื้อเวลา

ก่อนอื่นมาดูการผลิตสื่อโฆษณาซึ่งไม่นิยมจ้างเซเลบดังค่าตัวแพงเพื่อเซฟงบลงทุน “แต่สูง 2-5 แสนบาทต่อ 1 โปรดักส์ บวกค่าเวลาวางสื่อออกอากาศนาทีละ 1.2 แสนบาท-3 แสนบาทต่อนาที...วันหนึ่ง จะต้องวางกี่ครั้งกี่ช่องเป็นเงินเท่าไรกว่าคนจะรับรู้” โปรดักชันแมนกล่าว

คำตอบโจทย์ข้อนี้ง่ายมาก...นำค่าผลิตสินค้าบวกค่าผลิตโปรดักส์กับงบเผยแพร่ก้อนโตซื้อสื่อบวกกำไรที่ต้องการ ไปกำหนดราคาสินค้าให้เกินจริงเผื่อไว้ลดสะบั้นแจกสะเทือน โดย “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)”...และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน?

ผลกรรมจึงตกกับ “ผู้ซื้อ” ที่หลงเชื่อโฆษณา “อาหารเสริม” เทียม “ยา”...ได้สินค้าตรงปกบ้างปกขาดบ้าง ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมจากสินค้าออนไลน์

อีกช่องทาง...ที่น่าจับตามองคือธุรกิจขายอาหารเสริมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่นิยมยิงโฆษณารัวๆปั๊วะ-ปัง สูงสุดในยุคนี้ ได้แก่ TiKToK ไอจี เอฟบี แอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งรีวิว “อาหารเสริม” เทียม “ยา” รักษาโรคที่ตลาดต้องการ เช่น โรคหัวใจ ไตเสื่อม เบาหวาน ต่อมลูกหมากคลาย สมรรถนะทางเพศหย่อน

โดยมีผู้เข้าชมพุ่งกระฉูดหลักสิบล้าน...ร้อยล้านครั้ง และเท่าที่รู้... ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อพื้นที่สื่อส่วนค่าผลิตโปรดักส์นั้นก็จ่ายเพียงค่าน้ำจิ้มจิ๊บจ๊อย...แต่ผลตอบรับหึๆ ยิ่งกว่าคุ้มค่ามหาศาล!

ตลาด “อาหารเสริม” ออนไลน์ยุคปัจจุบันจึงคึกคักไปด้วยพ่อค้าแม่ขาย จริงบ้างเก๊บ้างเต็มหน้าจอไปหมด

ขณะเดียวกันเป็นคดีแจ้งความอยู่บนสถานีตำรวจอยู่ก็มากกับการหลอกลวงต้มตุ๋นขายสินค้าประเภทนี้ แต่ไม่น่าเชื่อ...การเปิดเกมการขายทุกวันนี้กลับเติบโตมีที่ยืนในตลาดบ้านเรา

และที่สำคัญกำลังขยายก้าวไกลไปถึงตลาดเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และกัมพูชา โดยมีเป้าหมายขาย “อาหารเสริม” เทียม “ยา” ต้องได้ 10,000 ล้านบาทในอนาคตอันใกล้

อดีตบุรุษพยาบาลโรงพยาบาลชื่อดังย่านอนุสาวรีย์ชัยฯที่หันมาเป็นพ่อค้าในสังกัดผู้ผลิตอาหารเสริมรายใหญ่ เล่าว่า “ถ้าเอ่ยชื่อธุรกิจรายนี้ทุกคนรู้จักดี...ทีแรกเริ่มลงทุนในยุคคอลลาเจนบูมใหม่ๆด้วยเงินสองแสนบาทผลิตสินค้าจดทะเบียนเป็นอาหารเสริมกับ อย. แล้วใช้กลยุทธ์การขายผ่านเว็บไซต์ร่วมกับหุ้นส่วนและสมาชิกช่วยกันขาย ใช้เวลา 5 ปีทำกำไรได้ 5,000 ล้าน”

ยุทธวิธีคือผลิตสินค้าแบรนด์ “เติมคอลลาเจนให้ร่างกาย” ถัดมาเป็นยาสีฟัน แล้วก็ผลิตภัณฑ์ชะลอวัย บำรุงสายตารวมแล้ว 12 ตัวออกสู่ตลาด โดยนำเข้าลิงก์เว็บไซต์พร้อมขยายฐานเปิดรับสมัครสมาชิกเป็นตัวแทนจำหน่าย สอนการทำตลาดแนวใหม่ให้รู้จักวิธีผลิตสื่อโฆษณา

ใช้ผู้มีประสบการณ์เป็นครูสอน...แล้วใช้แพทย์และเภสัชกรประจำที่เต็มใจเก็บจรรยาบรรณใส่ลิ้นชัก ทำหน้าที่วิทยากรให้ความรู้เรื่องสรรพคุณสินค้าก่อนนำไปขาย?

“ทั้งหมดเป็นการให้วิชาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย” บุรุษพยาบาล ว่า “จบแล้วจะออกไปประกอบอาชีพเองหรือนำสินค้ามาร่วมขายในเครือก็ได้ จะเป็นตัวแทนขายปลีกสินค้า 12 ชนิดกับที่จะออกใหม่ได้ก็ดี ถ้าสร้างวอลลุ่มได้มาก...โชคหนุนก็จะขยับเป็นพ่อค้าขายส่งรายย่อย จากนั้นก็เป็นซุปเปอร์ไวเซอร์และดีลเลอร์”

ต่อยอดเพิ่ม “นักขายออนไลน์รายใหม่” เป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆเป็นวัฏจักร

สถานการณ์เช่นนี้คงต้องหันกลับไปพลิกข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 แก้ไข พ.ศ.2522 กับ พ.ร.บ.อาหารเสริม สมมติว่าถ้าพึ่งไม่ได้ แล้วเกิด “อาหารเสริม” เป็นพิษแรงในสังคมเราขึ้นมาวันใด ค่อยหยิบมาใช้กัน ถึงเวลานั้น...# อนาคตคนไทยจะเหลือ 35 ล้านคน พ.ศ.2643 # ท่าจะจริงละมั้ง.