ไทยติดเชื้อโควิด-19 กลับมาเพิ่มใกล้ 2 พันคนอีกครั้ง รวมทั้งผู้เสียชีวิตพุ่ง 21 ศพต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ทำให้ยอดตายสะสม 245 คน พบผู้ป่วยอาการหนักแตะพันคน ผู้ติดเชื้อใน กทม.ยังมาอันดับ 1พร้อมจับตาเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ระบาดในมาเลย์ มีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน หวั่นโผล่ทางใต้ของไทย ขณะที่คนลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” ลิ่วไป 4.3 แสนคน ด้านสมาคมภัตตาคารไทยส่งหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ช่วย 2 ข้อ หลัง ศบค.ออกยาแรง กระทบผู้ประกอบการร้านอาหารอื้อ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย ยังคงรุนแรง ทั้งการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลักพันคน มีผู้ป่วยเสียชีวิตรายวันเป็นเลขสองหลัก รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผู้ป่วยโควิดอาการหนักพุ่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 2 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 คน เป็นการติดเชื้อ ในประเทศ 1,930 คน เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 10 คน โดยมาจากออสเตรีย 1 คน เป็นชายชาวเยอรมัน จากเกาหลีใต้ 1 คน เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี นอร์เวย์ 1 คน เป็นหญิงไทย อายุ 24 ปี อินเดีย 1 คน เป็นชายชาวอินเดีย อายุ 36 ปี ปากีสถาน 1 คน เป็นชายชาวปากีสถาน อายุ 56 ปี แอฟริกาใต้ 1 คน เป็นหญิงไทย อายุ 42 ปี ซูดาน 1 คน เป็นชายไทย อายุ 25 ปี และอียิปต์ 3 คน เป็นชายไทย 2 คนและหญิงไทย 1 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 68,984 คน หายป่วยสะสม 39,481 คน อยู่ระหว่างรักษา 29,481 คน อาการหนัก 954 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 270 คน

...

ยอดตายเพิ่มอีก 21 ศพ

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 21 คน เป็นชาย 12 คน หญิง 9 คน อยู่ใน กทม. 8 คน เชียงใหม่ 4 คน ชลบุรี ลำพูน จังหวัดละ 2 คน นครปฐม ตาก ระยอง นครสวรรค์ อุดรธานี จังหวัดละ 1 คน สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่ มาจากการใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และมีถึง 2 ราย ที่ติดเชื้อขณะนอนอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 245 คน อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศนั้น หลังพบว่าเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ สายพันธุ์อินเดียระบาดไปหลายประเทศ ขอให้ติดตามประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะชะลอบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยเดินทางเข้ามาในประเทศ

วอนเข้าใจมาตรการที่ออกมา

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 2 พ.ค. ได้แก่ กทม. 539 คน นนทบุรี 276 คน สมุทรปราการ 145 คน ชลบุรี 89 คน และปทุมธานี 62 คน ขณะที่ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค.มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย 11 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย 32 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 50 คน 27 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 คน 4 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 คน 3 จังหวัด แต่ที่เป็นห่วงคือ กทม.และปริมณฑล เพราะผู้ติดเชื้อกระจุกตัว ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กหารือกันว่า จำเป็นต้องค้นหาเชิงรุกในชุมชน ในพื้นที่แออัดให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน อย่างไร ก็ตาม ตั้งแต่มีมาตรการให้ทำงานที่บ้าน ทิศทาง การติดเชื้อลดลง แต่ กทม.และปริมาณกราฟตัวเลขยังขึ้นอยู่ จึงฝากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการให้เข้าใจความเดือดร้อน และท่านจะค่อยๆ เห็นตัวเลขที่เราอยากเห็นลดลง

ลงหมอพร้อมลิ่ว 4.3 แสนคน

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการรายงานผลการพัฒนาระบบบริหารจัดการเตียงในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 4-30 เม.ย.ข้อมูลสรุปจะเห็นว่าช่วงกลางเดือน เม.ย. ผู้ป่วยมีทั้งอาการหนักและมีอาการเบื้องต้นต้องใช้ระยะเวลารอเตียงนานเกิน 10 วัน แต่หลังการบูรณาการร่วมกันแล้วจนถึงวันที่ 29 เม.ย. ผู้ป่วยทุกระดับจะใช้เวลารอเตียงอยู่ที่ 1-2 วันเท่านั้น รองอธิบดีกรมการแพทย์รายงานว่า ปัจจุบันระยะเวลารอเตียงอยู่ภายใน 48 ชั่วโมง สำหรับการลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันและไลน์หมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงเวลา 09.00 น. ของวันที่ 2 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 430,588 ราย ตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่ามีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก เมื่อลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมากอาจทำให้ระบบขัดข้องชั่วคราว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขอยู่ ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกใช้ช่องทางดังกล่าว สามารถไปลงทะเบียนได้ที่อสม. หรือโรงพยาบาลที่มีประวัติรักษาอยู่ รัฐบาลยืนยันคนไทยมีสิทธิได้รับวัคซีน

ย้ำเชื้ออังกฤษทำป่วยรุนแรง

จากนั้น นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคระบาดและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงเพิ่มเติมที่กระทรวงสาธารณสุข กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสามมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และระยะเวลาจากการตรวจพบเชื้อจนถึงเสียชีวิตสั้นมากเพียง 9 วันเท่านั้นว่า จำนวนการเสียชีวิตค่อนข้างสูงต่อเนื่องกันหลายวัน เนื่องจากฐานจำนวนผู้ป่วยสูงมากขึ้นในแต่ละวัน แตะหลักพันถึงสองพัน การระบาดในระลอกนี้เป็นการระบาดของสายพันธุ์อังกฤษระยะเวลาจากวันที่พบเชื้อจนถึงเสียชีวิตก็สั้นลงกว่าเดิม สอดคล้องกับการศึกษาของยุโรปที่พบว่าสายพันธุ์อังกฤษมีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยจะติดตามดูรายละเอียดต่อไป ภาพรวมอัตราการเสียชีวิตในระลอกนี้ยังน้อยกว่าการระบาดในระลอกแรก เราจะดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญให้การสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยีและยา เชื่อว่าจะลดผลกระทบลงได้ จุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดรอบนี้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่สถานบันเทิง สถานที่จัดเลี้ยง จัดงานประเพณี สำนักงาน ตลาด ร้านอาหาร ฟิตเนส สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า โต๊ะสนุ้ก รวมถึงท่าอากาศยานด้วย

สายพันธุ์อินเดียยังไม่น่าห่วง

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ประเทศไทยการพบสายพันธุ์อินเดียในสถานที่กักกันผู้ที่เดินทางมาจากอินเดียไม่ใช่เรื่องแปลก และน่าวิตกกังวลแต่อย่างใด ทุกคนเข้ามาได้มีการตรวจ ถ้าตรวจพบก็จะกักกันจนปลอดภัยไม่ให้มาระบาดในประเทศไทย การถอดรหัสพันธุกรรมพบสายพันธุ์อินเดียที่อยู่ในที่สถานกักกันผู้เดินทางจากต่างประเทศ สายพันธุ์อินเดียจะแยกเป็นกลุ่ม B.1.167.1, B.1.167.2, B.1.167.3 และสายพันธุ์เบงกอล ที่ตรวจพบโดยสถานกักกันเป็นสายพันธุ์กลุ่ม B.1.167.2 จำนวน 2 ราย และกำลังรอตรวจอีก 6 ราย ยังไม่ทราบผล อย่างไรก็ตามไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เพราะทุกคนเข้ามาถูกต้องตามกฎเกณฑ์ สามารถกักกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในประเทศได้

หวั่นเชื้อแอฟริกาใต้จากมาเลย์

นพ.ยง ระบุด้วยว่า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งขณะนี้คือ การระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย จะพบว่ามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ถือว่าจะต้องระวังการแพร่ระบาดอย่างมากคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 จากการดูในฐานข้อมูลจำนวน 74 สายพันธุ์ในมาเลเซียที่เผยแพร่สาธารณะพบว่าเป็นสายพันธุ์นี้ถึง 31 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 1 ใน 3 ของมาเลเซียที่ระบาดอยู่ ดังนั้นสายพันธุ์นี้มีโอกาสที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ได้มากเพราะเรามีพรมแดนติดกัน อย่างเช่นสายพันธุ์อังกฤษระบาดหนักในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ได้บินมา แต่เดินข้ามพรมแดนธรรมชาติ เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ขณะนี้สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่อยู่ในมาเลเซียเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ไม่ควรให้สายพันธุ์นี้มาระบาดในประเทศไทยได้

กทม.ผู้ป่วยสะสม 1.3 หมื่น

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใน กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่าวันที่ 2 พ.ค.มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามประกาศของ ศบค.539 คน เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 499 คน อีก 40 คนมีที่อยู่ต่างจังหวัดและรักษาใน กทม. ตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่ วันที่ 1 เม.ย.-2 พ.ค.64 กรุงเทพฯมีผู้ป่วยสะสม 13,283 คน และมีแผนตรวจคัดกรองโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จุดที่มีเชื่อมโยงผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายตรวจเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 7,200 คน ระหว่าง 3-7 พ.ค.นี้ และขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิดอยู่ในระบบการรักษาของ กทม.1,291 คน เป็นผู้ป่วยมีอาการรักษาอยู่ใน รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. 8 แห่ง รวม 214 เตียง ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อยพักอยู่โรงพยาบาลสนาม กทม.ทั้ง 4 แห่ง รวมครองเตียง 966 เตียง คงเหลือ 734 เตียง ผู้ป่วยพักดูอาการใน Hospitel 5 แห่งรวมครองเตียง 173 เตียง คงเหลือ 411 เตียง ไม่มีผู้ติดเชื้อตกค้าง

ขยายเตียง รพ.สนามเพิ่ม

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวอีกว่า เนื่องจากยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีเตียงเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยติดเชื้ออย่างเพียงพอ กทม.ได้ขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม กำลังเตรียมการเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 ณ ศูนย์กีฬาบางบอน เขตทุ่งครุ จะรองรับได้อีก 400 เตียงจากเดิมมี 1,700 เตียง พร้อมทั้งประสานผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในการเปิดเป็น Hospitel เพิ่มเติมจากปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่งรองรับได้ 584 เตียง ผู้ประกอบการโรงแรมที่มีความพร้อมสามารถประสานกับสำนักการแพทย์ กทม.หรือสำนักงานเขตพื้นที่

ขอ 2 ข้อให้นายกฯ ช่วย

วันเดียวกัน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ขอให้ทบทวนคำสั่ง ศบค.ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร ส่งหนังสือผ่านไปทาง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.)แล้ว เพราะสมาคมได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และสุ่มเสี่ยงต้องปิดกิจการ มูลค่าความเสียหายจากคำสั่งล่าสุดนี้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน สมาคมมีข้อเรียกร้องไปยังนายกฯ 2 ข้อ ได้แก่ 1.อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น.และงดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้พิจารณาอนุญาตในวันที่ 7 พ.ค.นี้ และ 2.ขอให้นายกฯพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเรื่องค่าจ้าง เงินเดือนพนักงาน ร้อยละ 50 งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน และพักการชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี อีกทั้งขอ ให้ ศบค.ช่วยประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อยร้อยละ 50 เป็นการช่วยประคับประคองร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมาตลอดทั้งปี

แห่ตรวจหาเชื้อทะลุเป้า

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนใหญ่ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอีก โดยในจังหวัดใหญ่ อาทิ นครราชสีมา พบผู้ป่วยเพิ่ม 34 คน แยกเป็นในพื้นที่ อ.เมือง 14 คน อ.ปากช่อง 8 คน อ.ด่านขุนทด 3 คน อ.บัวใหญ่ 2 คน นอกนั้นอำเภอละ 1 คน ได้แก่ อ.แก้งสนามนาง อ.คง อ.ครบุรี อ.โชคชัย อ.ประทาย อ.ปักธงชัย และ อ.สีคิ้ว ขณะที่ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา จุดตรวจรถชีวนิรภัยพระราชทาน ยังคงให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เป็นวันสุดท้าย และมีประชาชนเดินทางมาลงทะเบียนเข้าตรวจตั้งแต่เช้ากว่า 500 คน ต่อแถวยาวภายในสนามหน้าศาลากลางฯ โดยทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพื่อความสบายใจ ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนมาตรวจกว่า 1,000 คน และวันที่ 2 พ.ค. ช่วงเช้าทยอยมาแล้ว 500 คน ซึ่งภาพรวมคนมาตรวจล้นหลามเนืองแน่นกว่าเป้าหมายที่ ประมาณกว่า 10,000 คน ส่วนรถชีวนิรภัยอีกชุดไปบริการที่หน้าที่ว่าการอำเภอปากช่อง โดยขอให้ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้มาคัดกรองเพื่อความสบายใจและไม่ต้องไปกังวล

ผู้เสี่ยงคลัสเตอร์สุโขทัยหาย

ส่วนที่ จ.สุโขทัย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่คือร้านอาหารคาเฟ่เดอทรี ต.ปากแคว อ.เมือง เมื่อวันที่ 12 เมย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ร่วมงานด้วย ซึ่งมีรายงานมาจาก สสจ.สุโขทัยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์ดังกล่าว มีจำนวนถึง 21 คน และแพร่กระจายเชื้อไปสู่ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดอีก 34 คน รวมมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ร้านอาหารดังกล่าวสูงถึง 55 คน แยกเป็นที่รักษาตัวอยู่ตาม รพ.ภายใน จ.สุโขทัย จำนวน 52 คน และ ผู้ติดเชื้อที่ไปรักษาตัวที่ กทม.อีก 3 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน และจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยหรือไม่ เพราะเดินทางพร้อมครอบครัวกลับ กทม.ไปตั้งแต่หลังสงกรานต์แล้ว ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ผลการตรวจเชื้อรอบแรกเป็นลบ และจะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อนายสมศักดิ์ได้เลย

ชัยนาทตายรายแรก

ขณะที่สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท ระบุว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 21 คนและมีผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่เสียชีวิต 1 คน ถือเป็นรายแรกของจังหวัด ผู้ตายเป็นชาย อายุ 86 ปี มาจาก อ.สรรพยา และถูกส่งมารักษาที่ รพ.ชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

2 เซียนพระสุพรรณฯป่วย

ที่ จ.สุพรรณบุรี มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 2 คน เป็นชาย วัย 70 ปี อยู่ อ.ด่านช้าง และหญิง อายุ 80 ปี แต่เป็นคนเขตหนองแขม กทม.ส่งตัวมารักษาที่ รพ.เจ้าพระยายมราช ไม่นับเป็นผู้ป่วยเสียชีวิตของจังหวัด นอกจากนี้ยังมีเซียนพระใน จ.สุพรรณบุรี 2 คน ประกาศติดเชื้อโควิด พร้อมขอโทษคนรอบข้างที่ต้องทำให้เดือดร้อน โดยคนแรกเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก “นพพล อินทร์สุวรรณ” หรือโจ๊ะ ศรีประจันต์ เซียนพระชื่อดัง จ.สุพรรณบุรี ประกาศว่าตนและเพื่อนเซียนพระชื่อ “ตูน” ติดโควิดด้วย ทั้งคู่เปิดแผงพระภายในห้างสรรพสินค้าที่มีผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้

คลองสามเร่งตรวจเชิงรุก

ด้าน จ.ปทุมธานี ที่ยังติดอันดับ 1 ใน 10 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลอดช่วงเช้าวันที่ 2 พ.ค.ที่สวนสาธารณะ หมู่บ้านพฤกษา 12 หมู่ 2 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชนกว่า 500 คน มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี พร้อมด้วยนายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายก อบต.คลองสาม และข้าราชการ มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ขณะที่ศูนย์โควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 88 คน อยู่ในบางบัวทอง 29 คน อ.เมือง 23 คน อ.ปากเกร็ด 15 คน อ.บางใหญ่ 14 คน อ.บางกรวย 5 คน และ อ.ไทรน้อย 2 คน รวมติดเชื้อสะสม 2,127 คน รักษาหาย 1,069 คน

สลดวิ่งหาวัดเผาผู้ป่วยโควิด

ส่วนกรณีชาวบ้านรอบวัดหลายวัดในพื้นที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ให้เผาศพผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นหญิง อายุ 76 ปี ชาว ต.ท่าไข่ อ.เมือง ที่เสียชีวิตที่ รพ.พุทธโสธร เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมานับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่สองของจังหวัด ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางอภิญญา เชื้อเงิน อายุ 63 ปี ส.อบต.ท่าไข่ ว่า หลังจากได้รับการร้องขอจากลูกสาวผู้ตาย ให้ช่วยหาวัดประกอบพิธีฌาปนกิจศพมารดา ก็วิ่งหาวัดถึง 3-4 วัด ทุกวัดยินดีให้นำศพมาเผา แต่ได้รับการปฏิเสธจากชาวบ้านโดยรอบ จนมาได้ที่วัดอุดมมงคล หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ ให้นำร่างผู้เสียชีวิตไปเผาได้แล้ว ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ขณะที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตล้วนติดโควิด-19 รวม 4 คน และมีรายงานล่าสุดว่าหลานสาววัย 2 ขวบเศษ พบติดเชื้อเช่นเดียวกันแต่ไม่มีอาการใดๆ

9 ขวบกราบเท้าแม่ลาไป รพ.

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน จ.ชัยภูมิ ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1 คน เป็น ด.ญ.วัย 9 ขวบ ชาว อ.หนองบัวแดง จากการตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์ไปร่วมงานบวชในพื้นที่ โดยคณะแพทย์จาก รพ.หนองบัวแดง เดินทางไปรับตัว ด.ญ.วัย 9 ขวบรายนี้ เพื่อไปรักษา จนเกิดภาพน่าเศร้าเมื่อหนูน้อยก้มกราบเท้าแม่และยาย เพื่อลาไปรักษาตัวเพียงลำพังคนเดียว ทั้งนี้ จ.ชัยภูมิมีผู้ติดเชื้อสะสม 142 คน เสียชีวิต 3 คน รักษาหาย 25 คน เหลือกำลังรักษาอยู่ 114 คน มีกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อเสี่ยงสูงในด้านการรักษาและน่าห่วงต่อการเสียชีวิตตามมาอีกได้ง่ายในครั้งนี้ด้วย ใน 2 กลุ่มหลักที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี รวม 18 คน กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป รวม 21 คน ที่ยังต้องให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

คลัสเตอร์โรงน้ำแข็งมาอีก 1

ส่วนที่ จ.ปราจีนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 2 คน ที่บริษัท ปราจีนบุรีวารีเทพ จำกัด ต.รอบเมือง อ.เมืองปราจีน–บุรี เป็นโรงงานผลิตน้ำแข็ง มีคนงานราว 120 คน และพบการแพร่ระบาดของโรคไปติดครอบครัวของพนักงานบริษัทดังกล่าว ต่อมาสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีระบุ ณ วันที่ 2 พ.ค. พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 1 คน ทำงานที่โรงงานน้ำแข็งดังกล่าว ทำให้คลัสเตอร์โรงงานน้ำแข็งมีผู้ติดเชื้อแล้ว 27 คน และสาธารณสุขจังหวัดได้ส่งตัวอย่างน้ำแข็งตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมโควิด-19 และอายัดน้ำแข็งในห้องเย็นไม่ให้จำหน่าย รอทำลายอีกครั้ง รวมถึงให้ปิดโรงงานน้ำแข็งชั่วคราว 14 วัน เพื่อทำความสะอาด และนำพนักงานทุกคนตรวจหาเชื้อต่อไป

ผวาโควิดทำตลาดผ้ากระอัก

สำหรับที่ จ.ชลบุรี ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 89 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.บางละมุง ศรีราชา นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการปล่อยข่าวว่าตลาดผ้าวัดกลาง อ.เมืองชลบุรี มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดซบเซา ร้านค้าต้องปิดตัวลงไปหลายร้าน เนื่องจากไม่มีชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อเสื้อผ้า นอกจากนี้ตลาดวัดกลางยังเป็นพื้นที่ขายอาหารสด และอาหารแห้ง ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยนางอารยา เลียวรักษ์โอฬาร อายุ 53 ปี ร้านขายผ้าเพลินพรรณ ซอยตาเง็ก วัดกลาง เทศบาลเมืองชลบุรี กล่าวว่า ที่มีข่าวว่ามีผู้ติดไวรัสโควิด-19 ที่ตลาดวัดกลาง ขอยืนยันว่าไม่จริง รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านแล้ว แต่ก็ยังแทบไม่มีคนเข้ามาจับจ่ายในตลาดอยู่ดี ส่วน จ.ตราด หลังมีการพบผู้ติดโควิด-19 ที่เกาะช้าง ทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยพากันยกเลิกการจองห้องพักพร้อมขอคืนเงินมัดจำไปแล้วกว่าร้อยละ 70 ทำให้ในช่วงสุดสัปดาห์ต้นเดือน พ.ค.ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน บนเกาะช้างกลับเงียบเหงา กระทบถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างมาก

ร้านแนวสตรีทฟู้ดเฉาถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลจากมาตรการของ ศบค.ที่คุมเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารถ้วนหน้า โดยที่ จ.เชียงใหม่ ร้านอาหารตามสั่งในบริเวณตลาดศิริวัฒนา หรือกาดธานินทร์ อ.เมืองเชียงใหม่ ที่ถือเป็นย่านร้านอาหารสตรีทฟู้ดชื่อดังและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีแต่ความเงียบ เหงา เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ มีคำสั่งห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มภายในร้าน และให้ปิดบริการในเวลา 21.00 น. ตลอดทั้งวันที่ 2 พ.ค.แทบไม่มีลูกค้าเข้าไปซื้ออาหาร หลายร้านยอมหยุดขายเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ส่วนร้านที่ยังเปิดขายเหลือไม่ถึง 10 ร้าน แต่ละร้านต้องปรับตัวตามสถานการณ์ ด้วยการจัดเตรียมวัตถุดิบให้น้อยลงครึ่งต่อครึ่ง ผู้ค้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ครั้งนี้วิกฤติหนักสุดเพราะลูกค้าหายไปกว่าร้อยละ 90

ตลาดคนหายยอดขายลดฮวบ

เช่นเดียวกับตลาดบางลำภู ภายในเขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่าคนมาเดินจับจ่ายซื้อของกันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด น.ส.อารยานี เนียม-ประดิษฐ์ ผู้จัดการตลาดบางลำภูขอนแก่น กล่าวว่า ทุกวันนี้แม่ค้าบ่นกันทุกคนเพราะการค้าขายแย่ลง ปกติลูกค้าเคยซื้อเยอะก็มาซื้อน้อยลงแต่ยังคงมีคนมาเดินตลาดอยู่แต่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด คนเราต้องกินแต่พฤติกรรมเปลี่ยนไปคือรีบมารีบซื้อเสร็จแล้วก็รีบกลับ ทั้งนี้ สินค้าที่เกี่ยวกับอาหารการกินวันนี้ยอดขายลดลงกว่าร้อยละ 30 แต่ถ้าเป็นสินค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้าของใช้ลดลงถึงร้อยละ 60 เคยขายได้ 100 วันนี้ขายได้ 40 ก็ดีใจแล้ว

อินเดียยังเอาไม่อยู่

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกกว่า 788,657 คน เป็นกว่า 152 ล้านคน เสียชีวิตอีกกว่า 12,000 คน เป็นกว่า 3.2 ล้านคน โดยเฉพาะที่อินเดียที่ตลอด 24 ชม.ที่ผ่านมา ยังพบผู้ติดเชื้อเกือบ 400,000 คน ทำให้ยอดสะสมใกล้แตะ 20 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่มอีก 3,688 ราย เป็นกว่า 215,000 คน ทางการจึงสั่งให้กรุงนิวเดลี พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดหนักสุด ซึ่งมีประชากรอาศัย 20 ล้านคน ยังต้องล็อกดาวน์ไปอีก 1 สัปดาห์ ขณะที่นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า รัฐบาลอินเดียควรล็อกดาวน์ไปอีกหลายสัปดาห์ หรือเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อหยุดวงจรการระบาดของเชื้อ ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity Act 2015 และเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่เอาผิดทางอาญากับพลเมืองของตัวเองที่เดินทางมาจากอินเดีย โดยระวางโทษจำคุก 5 ปี ปรับเป็นเงินสูงสุด 66,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.นี้ไปถึงวันที่ 15 พ.ค. เพื่อสกัดไม่ให้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียเข้าประเทศ