• เมื่อ "ขยะ" ไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง ความคิดของอาสากลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า "Trash Hero" 
  • คุยกับ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย กับแนวคิดของทะเลจร การนำขยะที่ได้จากทะเล มารีไซเคิลเป็นรองเท้า พร้อมแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม
  • ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ การที่ทะเลจะไม่มีขยะ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าชายหาดไม่มีขยะ อาจมีลุ้น 


เมื่อทุกคนทิ้ง “ขยะ” แล้วทำไมเรื่องจัดการ “ขยะ” ถึงไม่ใช่เรื่องของทุกคน

“Trash Hero” กลุ่มอาสาสมัคร ที่เกิดขึ้นโดยคนไทย ที่หลีเป๊ะ เมื่อปี 2013 จากการรวมตัวกันของคนกลุ่มเล็กๆ เดินไปเก็บขยะตามชายหาด จากนั้นก็นำมาคัดแยก และทำให้เห็นว่า ขยะในทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ลอยน้ำมาจากทั่วทุกสารทิศ อาสาสมัครหลายคนเริ่มมองเห็นปัญหา และเริ่มโปรเจกต์นี้อย่างจริงจัง กระทั่งกลายมาเป็น “Trash Hero Thailand” 

สำหรับ “Trash Hero Thailand” มีอาสาสมัครกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย ทั้งกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, จันทบุรี, หัวหิน, อ่าวนาง, เกาะลันตา, เกาะพีพี, ปัตตานี, ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งการดำเนินงานของ “Trash Hero” ในจังหวัดต่างๆ มีจุดประสงค์หลักคล้ายกันคือ สร้างจิตสำนึกในเรื่องของขยะให้กับคนในพื้นที่ ดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างโมเดลการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมีการวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาวผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยมีทีมลีดเดอร์ของแต่ละพื้นที่เป็นคนดูแล ประสานงาน

จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทย แนวคิดของ “Trash Hero” ถูกกระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “Trash Hero World” ทั้งอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, โปแลนด์, โรมาเนีย, สวิตเซอร์แลนด์, ฮอลแลนด์, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ มีอาสาสมัครจากทั่วโลกแล้วเกือบ 4 แสนคน ร่วมกันเก็บขยะไปแล้ว 1.8 ล้านกิโลกรัม จากชายหาด และเมืองต่างๆ

...

จากการพูดคุยกับ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากภาคปฏิบัติของสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นลีดเดอร์ของ “Trash Hero Pattani” เล่าว่า "Trash Hero" เป็นองค์กรอาสาสมัคร ที่รณรงค์ในเรื่องการเก็บขยะ และมีหน้าที่ไปเก็บขยะทุกสัปดาห์ โดยองค์กรนี้ขับเคลื่อนด้วยอาสาสมัคร ที่ไม่มีเจตนาในการระดมทุนใดๆ คนที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ไม่จำเป็นต้องเป็นเมมเบอร์ จะเป็นใครก็ได้ ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้น จะมีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กในทุกสัปดาห์ ระบุวัน เวลา สถานที่ไว้ชัดเจน หากใครอยากมาร่วมกิจกรรม ก็สามารถมาเข้าร่วมได้เลย

มอง "ขยะ" เป็นทรัพยากร


สำหรับที่ปัตตานีเอง เริ่มต้นมาจากการที่ผมทำงานด้านรีไซเคิลอยู่แล้ว พอได้ศึกษากระบวนการทำงานของกลุ่ม "Trash Hero Koh Lipe" ที่มีการทำงานทุกสัปดาห์ ซึ่งผมรู้ดีว่า วัตถุดิบที่จะนำมารีไซเคิล ไม่ได้หามาได้ง่ายๆ ต้องมีการเก็บ เก็บที ก็มาที มันก็เป็นไอเดียที่ดีในการเปลี่ยนแปลงโลกของคนทำรีไซเคิล ผมเลยติดต่อไป ขอมาตั้งเป็น “Trash Hero Pattani” หลักๆ ผมมองในฐานะของผู้ใช้วัตถุดิบจากการเก็บมาก่อน พอมาเป็นอาสาเก็บขยะ จากที่เรามองเป็นวัตถุดิบ เราก็มองเป็นทรัพยากร หมายความว่า เราเริ่มมองเห็นปัญหาในเรื่องของขยะมากขึ้น

ในส่วนของปัตตานีเอง มีขยะที่เก็บจากทะเลไปแล้ว ประมาณ 2 หมื่นกว่ากิโลกรัม ซึ่ง “Trash Hero” แต่ละพื้นที่ ก็จะมีพื้นที่จัดการในเรื่องของการเก็บขยะแตกต่างกันไป คนที่เชียงใหม่ ก็ต้องจัดการในพื้นที่อื่น ซึ่งไม่ใช่ขยะในทะเล เป็นต้น

ซึ่งหากจะพูดถึงขยะในทะเล ดร.ณัฐพงษ์ บอกว่า เอาจริงๆ ขยะในทะเลเหล่านี้ ก็เป็นขยะที่มาจากแม่น้ำ ซึ่งมนุษย์เจตนาที่จะทิ้งกันเป็นถุงๆ และขยะเหล่านี้ก็จะไหลไปตามท่อ สุดท้ายแล้ว แม่น้ำทุกสาย ก็จะไหลมาลงทะเล และมันก็ไม่มีหรอก ที่คนทิ้งจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่มีใครบอกว่า เป็นขยะของเรา แต่ถ้ามองจริงๆ ขยะเหล่านี้ ก็ของเราทั้งนั้น แม้กระทั่งจุดทิ้งขยะของเมืองโดยหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ส่วนใหญ่ก็อยู่ริมแม่น้ำ เพราะเป็นที่รกร้าง พื้นที่ชุ่มน้ำ ทำอะไรไม่ได้ นึกภาพว่าถ้าฝนตกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างก็จะถูกชะลงแม่น้ำ ก่อนที่จะไหลรวมลงสู่ทะเล เป็นวัฏจักร

ส่วนขยะที่อยู่ในทะเล หากอยู่ใกล้ต้นน้ำ ส่วนใหญ่เป็นขยะสด นำมารีไซเคิลไม่ค่อยได้ นอกจากนำมาทำปุ๋ย พอมาถึงปากแม่น้ำ ก็จะพบกับขยะที่ย่อยสลายไม่ได้มากขึ้น อาทิ ขวดแก้ว พลาสติก แต่ถ้าไปไกลกว่าปากแม่น้ำอีก เราจะเจอแต่ขยะที่ลอยง่าย และลอยได้ไกล ฉะนั้นถ้าเราพูดถึงขยะในทะเล ส่วนใหญ่ก็จะเหลือแต่ “พลาสติก” ซึ่งโดยหลักการ สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่บริษัทรีไซเคิลส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับ เนื่องจากมีความสกปรก มีทราย แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทที่ใหญ่มากๆ ก็จะคิดถึงเรื่อง value ยิ่งถ้าเราบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นขยะที่เก็บมาจากทะเล เขาก็จะนำไปสร้างสตอรี่ในการขายสินค้า ซึ่งทำให้สามารถขายสินค้าได้แพงมากขึ้นด้วย



จากรองเท้าเก่า สู่รองเท้า "ทะเลจร"

สำหรับ “Trash Hero Pattani” เอง มีการต่อยอดจากขยะประเภทรองเท้าที่เก็บได้จากทะเล มารีไซเคิลเป็น material พื้นยาง ก่อนหน้าเราทำเพื่อที่จะนำไปแข่งในโครงการแผนธุรกิจ รายการหนึ่ง ที่เกี่ยวกับ Social Enterprise (โมเดลธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสามารถสร้างผลกำไร) โดยเรามานั่งคิดว่า การจะทำแค่ material ไปแข่ง อาจจะทำให้เข้าถึงยาก

ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนจาก material เป็น product เพื่อให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ตอนนั้นคนในทีมก็เสนอว่า ทำเป็นรองเท้าเลยได้ไหม ไหนๆ ก็เก็บรองเท้าเหล่านี้มาทำ material แล้ว ก็แปลงกลับไปเป็นรองเท้าอีกรอบ ซึ่งเป็นการคิดที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้จริง จึงเป็นที่มาของการทำรองเท้า ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ทะเลจร”

ในการแข่งขันครั้งนั้น เราไม่ได้ชนะ เนื่องจากสิ่งที่กรรมการตั้งคำถามกับเราว่า ด้วยวัตถุดิบของเรามาจากขยะในทะเล เก็บโดยอาสาสมัคร มันทำให้เราไม่รู้ต้นทุน ไม่รู้ปริมาณ และไม่รู้ว่าจะโตได้อย่างไร อีกทั้ง ถ้าขยะหมด เราจะทำอย่างไร เขาจึงมองว่า สิ่งที่เราคิดออกมา มันเป็นแผนธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน แต่เราก็มี Mindset ว่า เราทำสิ่งนี้ไม่ใช่ทำเพื่อหาเงิน แต่เราทำเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น พอจะดำเนินการจริงๆ ก็มาคิดว่า เราจะไม่ทำเป็นโรงงาน แต่เลือกที่จะเดินเข้าไปหาชาวบ้านให้เขามาช่วยเรา ชวนเขามาทำงานด้วยกัน

ครั้งแรกผมไปหาชาวบ้านที่จะมาทำงานให้ ผมไปหาที่งานโอทอปในกรุงเทพฯ แต่กลับกลายเป็นว่า ได้เจอกับชาวบ้านที่อยู่ปัตตานี ซึ่งทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าปาเต๊ะอยู่ ผมก็คุยกับเขาว่า อยากได้ packaging ให้กับรองเท้า เนื่องจากผมคิดว่า ถ้าเราขายรองเท้า โดยมีพลาสติกเป็น packaging จะหลุดคอนเซปต์

จากนั้นก็ทาบทามว่า นอกจาก packaging แล้ว สนใจมาทำรองเท้าให้เราไหม โดยที่เราจะเป็นคนสอนให้ เพราะถ้าทำแต่ packaging ไม่มีตัวรองเท้า ก็ขายไม่ได้ เนื่องจากสินค้าเราคือ รองเท้า โดยรายได้ที่ชาวบ้านจะได้รับนั้น จะได้รับทันทีหลังจากที่ส่งรองเท้าที่ทำเสร็จให้เรา ไม่ต้องมารอว่าเราจะขายได้เมื่อไรถึงจะได้ส่วนแบ่ง เพราะเราไม่ได้มีออเดอร์ที่เยอะขนาดนั้น และเราอยากที่จะเลี้ยงชาวบ้านกลุ่มนี้ที่เป็นกลุ่มแม่บ้าน ผู้หญิงล้วน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้แข็งแรง และขยายงานในเชิงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้มากขึ้น

เช่นการเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเปิดรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากมาเลย์ให้เข้ามานอนในหมู่บ้านได้ เป็นเหมือนโฮมสเตย์ เพราะก่อนหน้า ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้ถูกทาให้เป็นสีแดง ช่วงแรกเราไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เลย อยากได้อะไร จะส่งของ รับของ ต้องบอกให้ชาวบ้านเป็นคนออกมา ปัจจุบัน เราพัฒนาจนพื้นที่นี้เข้าไปเป็นหนึ่งในลิสต์ของ ททท. คนที่เข้ามาดูงานของกลุ่ม “ทะเลจร” ก็จะได้ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย

ไม่ใช่แค่รายได้ แต่อยากให้คุณภาพชีวิต

ย้อนกลับมาที่ขั้นตอนการทำรองเท้า “ทะเลจร” จากขยะ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนรองเท้าที่เก็บมาได้จากทะเล โดยหลังจากที่เก็บมาได้แต่ละชิ้น ก็จะนำมาทำความสะอาด จากนั้นบดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกาว อัดด้วยความร้อน เพื่อทำเป็น material ก่อนจะนำไปให้ชาวบ้านประกอบเป็นรองเท้า มีการตัดตามแบบ ใส่หู ประกอบตามรุ่น ติดป้าย บรรจุลง packaging แล้วส่งกลับมาให้เรา 

ตั้งแต่เริ่มโครงการ “ทะเลจร” ผลิตรองเท้าออกมาแล้วประมาณ 7 รุ่น จากรุ่นแรกเรามีการพัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่ง 2 รุ่นล่าสุด ที่สามารถทำราคาได้สูงขึ้น ซึ่งชาวบ้านก็จะได้เงินมากขึ้นด้วย แต่กว่าจะถึงวันนี้ ก็ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการฝึกให้ชาวบ้านได้พัฒนาฝีมือ ทำอะไรที่ยากขึ้น เพื่อแลกกับรายได้ที่มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราอยากจะให้ชาวบ้านจริงๆ คือ ทักษะ ความรู้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลา

สำหรับกลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าในราคาแพง เพียงเพื่อความรู้สึกที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นอื่นๆ ที่เขาสนใจ บวกกับคนรุ่นเก่าอีกจำนวนหนึ่งที่ยอมทุ่มเทกับตรงนี้

ในขณะที่บางคนบอกให้เราลดราคาลง เพื่อที่จะขายได้มากขึ้น แต่เรามองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ถ้าเราจะปรับราคาให้ถูกลง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรามองว่า ถ้าเราซื้อของถูก คนแรกที่จะโดนกดคือ แรงงานที่ไม่มีสิทธิ์เลือก ในที่นี้ก็คือชาวบ้าน ดังนั้น ก็อยากให้คิดว่า การซื้อของบางอย่างในราคาที่ถูกลง มันกระทบกับใครบ้าง ของบางอย่าง มันไม่ควรถูกจนเกินไป นี่ก็เป็นอีกสารหนึ่งที่อยากจะสื่อออกไป

นอกจากรายได้แล้ว สิ่งที่เราสร้างให้ชาวบ้านคือ ให้โอกาสชาวบ้านได้มองเห็นภาพของโลกในมุมที่กว้างขึ้น มองเห็นว่า “ขยะ” สามารถนำมาแปรเป็นรองเท้าที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าที่หลายคนจะซื้อใช้ด้วยซ้ำ สองคือ การที่คนในหมู่บ้าน เริ่มเปิดรับคนนอกให้เข้าไปในพื้นที่ มันเกิดภาพของความเข้าใจระหว่างคนเมือง และชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล ให้เขาได้รู้จัก และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกัน เราก็สอนเขาในเรื่องของกระบวนการมาร์เก็ตติ้ง การทำแบรนด์ ต้องทำอย่างไร ปัจจุบัน เขาก็พัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ในงานผ้าของเขาเอง

นอกจากรองเท้า “ทะเลจร” แล้ว Trash Hero ยังมีอีก 2 โปรเจกต์ ที่เรารณรงค์กันอยู่ คือ การรณรงค์ให้พกกระบอกน้ำ แทนที่จะไปซื้อน้ำขวด ซึ่งกระบอกของ Trash Hero สามารถเติมน้ำดื่มได้ฟรีทั่วโลก ตลอดชีพ ทุกจุดที่มีจำหน่ายกระบอกน้ำ และถุงผ้าไนลอน ที่นำมาใช้แทนถุงพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝีมือคนไทย เพราะ “Trash Hero” เริ่มที่ไทย

"ขยะ" ในทะเล ไม่มีวันหมด?

ในยุคสมัยที่คนหันมาใส่ใจในเรื่องของขยะ และเรื่อง Zero Waste มากขึ้น เราถาม ดร.ณัฐพงษ์ ว่า ในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้ คิดไหมว่า จะมีสักวันที่ในทะเลไม่มีขยะ ซึ่ง ดร.ณัฐพงษ์ หัวเราะ แล้วบอกกับเราว่า ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมบอกเลยว่า “เป็นไปไม่ได้” ด้วยจำนวนขยะที่อยู่ในทะเล เราเก็บไม่ไหว สองคือ เทคโนโลยี เพราะขยะส่วนใหญ่ จะอยู่ใต้ทะเล เราก็ไม่รู้จะเก็บอย่างไร ถ้าดูจากหลักการมันจึงเป็นไปไม่ได้เลย

“หากมองภาพว่า ทะเล คือน้ำที่กำลังล้นอ่างอยู่ สิ่งที่เราทำคือ การหยิบไม้ม็อบมาเช็ดน้ำที่ไหลออกมา เราก็เช็ดไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เราก็มาคิดว่า ทำไมเราไม่ปิดก๊อก ใครที่สามารถปิดก๊อกไม่ให้น้ำล้นได้ ปิดให้เราได้ไหม เรากำลังจะสื่อว่า เราเลิกใช้ขวดน้ำได้ไหม เราเลิกใช้พลาสติกได้ไหม เราเลิกใช้ของที่ต้องทิ้งได้หรือไม่ เป็นกิจกรรมที่เราอยากตั้งคำถามว่า วันหนึ่งเราจะปิดก๊อกกันไหม แล้วค่อยมาคาดหวังว่า จะมีใครขุดขยะใต้ทะเลเหล่านี้ขึ้นมาไหว

แต่ตอนนี้ถ้าถามจริงๆ คือมันไม่หมด ไม่มีทางหมด การไม่มีขยะในทะเล เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าชายหาดไม่มีขยะ อาจมีลุ้น เพราะมีคนเก็บ มีกระบวนการเก็บ” ดร.ณัฐพงษ์ กล่าว


ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
ภาพ : Trash Hero Thailand, Trash Hero Pattani, Tlejourn ทะเลจร